จะสลายอัตตาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เมื่อเราเห็นอัตตาชัด เข้าใจอนัตตาชัด ทำไมความรู้สึกว่าเป็น "ฉัน" ยังเกิดขึ้นอีกครับ เราจะสลายมันอย่างไร ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ครับ
ก็เหมือนการเกิดของกาแล็กซี มีหลุมดำอวิชชาอยู่ตรงกลาง มีอำนาจดึงดูดทุกอย่างไว้รอบตน มีขอบฟ้าเหตุการณ์เป็นตัวสะท้อนหลุมดำ และแสดงบริบทแห่งหลุมดำ (อวิชชา) นั้น ๆ พลังงานที่ส่งออกมาจากหลุมดำสร้างอาณาจักรกาแล็กซียึดโยงกันไว้ เรียกว่า ขันธ์
วิธีปฏิบัติมีสามวิธี
วิธีที่ ๑ - เจโตวิมุตติ
พระพุทธองค์ทรงพาท่านปัญจวัคคีย์พิจารณาขันธ์โดยความไม่เป็นตน ปล่อยวางความยึดถือ ท่านก็สำเร็จอรหันต์เลยด้วยเจโตวิมุตติ
ท่านพระสารีบุตรพาท่านพระอนุรุทธปล่อยวางมานะและความฟุ้งซ่าน สองขอบฟ้าเหตุการณ์ชิดหลุมดำอวิชชา แล้วน้อมสู่อมตธาตุที่ปราศจากหลุมดำ ท่านพระอนุรุทธก็สำเร็จอรหันต์เลยด้วยเจโตวิมุตติ
ผู้ที่บรรลุด้วยเจโตวิมุตติได้ คือ ผู้ปฏิบัติมามาก เป็นการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมตรง ๆ ไม่วนเวียนกับปริยัติมาก
วิธีที่ ๒ - ปัญญาวิมุตติ
หากผู้ใดในสัญญาเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ การวิเคราะห์วิจัย ชอบเทศน์ก่อนแจ่มแจ้งจริง สัญญาจะบวม ต้องลอกสัญญาออกด้วยมรรค คือ
๑. เข้าใจให้ทะลุปรุโปร่งตามปริยัติที่ครบถ้วน (ปริยัติกระท่อนกระแท่นจะเข้าใจธรรมผิดเพราะยึดเฉพาะส่วน)
๒. ตั้งใจออกจากอัตตา ละอวิชชา ผู้ผลิตอัตตาอย่างจริงจัง
๓. พูดจาให้เป็นหนึ่งเดียวกับความตั้งใจ ไม่ใช้สรรพนามแทนตัวตน เช่น ฉัน เธอ เขา พระใช้ "อาตมา" หมายถึง จิตนี้ ฆราวาสควรใช้ "รู้นี้" หรือ "จิตนี้" หรือ "ธาตุนี้" หรือ "ธรรมนี้"
๔. กระทำให้สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับที่เข้าใจ ตั้งใจพูด คือ ไม่ทำอะไรที่เป็นการสร้าง สนอง เสริมตัวตน ทั้งภายในและภายนอก (ของคนอื่น) อีกเด็ดขาด เช่น "กลัวเขาไม่รัก" "ทำตัวให้เล็ก" "กลัวเขาข่ม" "ทำตัวให้ใหญ่" "กลัวเขาด่า" "ระวังกังวลจนประสาท" "กลัวเขาไม่เข้าใจ" "พูดมากจนคนเวียนหัว" "กลัวเขาไม่รู้จัก" "แสดงตนให้ปรากฏ" "กลัวเขาไม่ยอมรับ" "อวดอ้างคุณต่าง ๆ" ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ คือ พฤติกรรมเสริมสร้างตัวตน อัตตาจึงงอกใหม่ไม่รู้จบ
๕. ประกอบอาชีพแบบมุ่งผลล้วน ๆ ไม่มุ่งสร้างตน
๖. เพียรละเลิกลด ตัวตนเดิมที่สะสมไว้ยาวนาน
เพียรป้องกัน ไม่ให้ตัวตนใหม่เกิดขึ้น
เพียรเจริญ อนัตตญาณ
เพียรรักษา อนัตตญาณที่แจ่มแจ้งแล้ว
๗. ตั้งสติกำหนดจิตตั้งมั่นในอนัตตาเสมอ จนเห็น กายเวทนาจิตธรรม และโลกทั้งปวงเป็นอนัตตา แปรปรวนไป ไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในสิ่งเหล่านี้
๘. ลอกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณตามกำลังฌาน (สมาธิคือกระบวนการลอกขันธ์) เมื่อลอกได้ก็จะเข้าสมาธิลึกมั่นขี้น บรรลุธรรมง่ายขึ้น
วิธีที่ ๓ - อุภโตภาควิมุตติ
บางท่านที่ศึกษาปริยัติแม่นตรงพอสมควรด้วย ปัญญาดีด้วย เข้าฌานต่าง ๆ ได้ตามปรารถนาด้วย กำลังจิตบริสุทธิ์ด้วย จะมีกำลังทะลุทะลวงอวิชชา สลายอวิชชาตรง ๆ ทะลุสู่นิพพานอันเป็นอมตธาตุเลย ปฏิบัติได้ผลทั้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติสองอย่าง เรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ จะได้คุณอันยอดยิ่ง