พระนางมหาปชาบดีโคตมี
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกะชนบท และกราบทูลขอประทานวโรกาสให้สตรีได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนางได้ทูลขอถึงสามครั้ง พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสห้ามไว้ทั้งสามครั้งว่า อย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรชิตเลย
พระนางทรงน้อยพระทัย เสียพระทัย แล้วเสด็จกลับไป
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จหลีกจาริกไปทางพระนครเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จไปยังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเช่นกัน
ท่านพระอานนท์เห็นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงสอบถาม แล้วทราบว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ท่านพระอานนท์ขอให้พระนางรออยู่สักครู่ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลขออนุญาต ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลขอถึงสามครั้ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงตรัสห้ามทั้งสามครั้งว่า อย่าชอบใจการที่สตรีออกบวชเป็นบรรชิตเลย
ท่านพระอานนท์จึงทูลถามว่าเมื่อสตรีบวชเป็นบรรพชิต ควรจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลหรือไม่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควร
ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลว่าถ้าสตรีเมื่อบวชเป็นบรรพชิตควรทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคทรงมีอุปการะมาก ขอสตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ประการ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต ข้อนั้นจะเป็นอุปสัมปทาของพระนาง
ครุธรรม ๘ ประการ
๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น
๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ
๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง
๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี
ท่านพระอานนท์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ และอุปสมบทแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าถ้าสตรีไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี เพราะสตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ทรงประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น
แล้วทรงกล่าวต่อไปว่าสตรีได้บวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรกำจัดได้ง่าย และเปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน
นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
พระะผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนบุรุษกั้นทำนบสระใหญ่ไว้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป ฉะนั้น
เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าพึงปฏิบัติในนางสากิยานีที่มาด้วยอย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี
พระมหาปชาบดีโคตมีได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์เพื่อกราบทูลขอพรกะพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต และทรงทำธรรมีกถาว่า ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ
พระมหาปชาบดีเถรีบรรลุพระอรหัต
พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยย่อ เมื่อได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อคลายความกำหนัด
เป็นไปเพื่อความประกอบ ไม่ใช่เพื่อความพราก
เป็นไปเพื่อความสะสม ไม่ใช่เพื่อความไม่สะสม
เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่ใช่เพื่อความมักน้อย
เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่ใช่เพื่อความสันโดษ
เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ใช่เพื่อความสงัด
เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่ใช่เพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย
พึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่านั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์
อนึ่ง เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด
เป็นไปเพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ
เป็นไปเพื่อความไม่สะสม ไม่ใช่เพื่อความสะสม
เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่ใช่เพื่อความมักมาก
เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่ใช่เพื่อความไม่สันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่ใช่เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่ใช่เพื่อความเกียจคร้าน
เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงยาก
พึงทรงจำธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนเดียวว่านั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย นั่นเป็นสัตถุศาสน์
ด้วยพระโอวาทนี้ พระนางได้บรรลุพระอรหัต
เอตทัคคะผู้เป็นรัตตัญญู
พระนางมหาปชาบดีโคตรมีเถรีได้ภาษิตคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณ ในภายหลัง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำหน่งเอตทัคคะหลายตำแหน่ง ได้ทรงสถาปนาพระนางปชาบดีโคตมีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกา ผู้เป็นรัตตัญญู รู้ราตรีนาน
บุรพจรรยาของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเจ้า
ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ในสมัยของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ พระนางเกิดในสกุลอำมาตย์ในพระนครหังสวดี ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าปทุมุตระ ได้สดับว่าพระองค์ทรงตั้งพระภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งอันเลิศ จึงถวายมหาทานและปัจจัยเป็นอันมากแด่พระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระสงฆ์ ๗ วัน มุ่งปรารถนาตำแหน่งนั้น
ทรงได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าปทุมุตตระว่าจักได้เป็นพระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้าโคดม และจักได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน พระนางได้บำรุงพระพุทธเจ้าปทุมุตตระด้วยปัจจัยตราบเท่าสิ้นชีวิต เมื่อตาย ได้ไปเกิดในดาวดึงส์ เป็นพระมเหสีผู้น่ารักของท้าวอมรินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
พระนางได้ท่องเที่ยวไปในสงสาร ได้เกิดในบ้านของทาส มีทาส ๕๐๐ คน เป็นภรรยาของหัวหน้าทาส พระนางได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระนางพร้อมด้วยสามีมีจิตเลื่อมใสสร้างกุฎี ๕๐๐ หลัง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นตลอดสี่เดือน แล้วถวายไตรจีวร ต่อจากนั้น พระนางพร้อมกับสามีก็ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในภพสุดท้าย ได้เกิดในพระนครเทวทหะ ต่อมาได้ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าสุทโธทนะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ พระนางประเสริฐกว่าสตรีทุกคน ได้เป็นคนบำรุงเลี้ยงพระพิชิตมาร ภายหลังพระนางพร้อมด้วยนางศากยานี ๕๐๐ ได้ออกบวช ประสพสันติสุข สามีของพระนางที่ได้ทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติก่อนในครั้งนั้น ได้บรรลุอรหัตเช่นกัน
อ่าน:
พระนางมหาปชาบดีโคตมี
มหาปชาบดีโคตมีเถรีคาถา
มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน