Main navigation
พยาบาท
Share:

(๑)  พยาบาท คือ ปองร้ายเขา   เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต หนึ่งใน อุปกิเลส ๑๖

(๒)  พยาบาท เป็น หนึ่งใน นิวรณ์ ๕

พยาปาทนิวรณ์ เป็นไฉน?

อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า

-  ผู้นี้ได้กระทำความเสื่อมเสียแก่เรา ผู้นี้กำลังทำความเสียแก่เรา ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียแก่เรา
-  ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสีย กำลังทำความเสื่อมเสีย จักทำความเสื่อมเสียแก่คนที่รักที่ชอบพอของเรา
-  ผู้นี้ได้ทำความเจริญ กำลังทำความเจริญ จักทำความเจริญแก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

หรืออาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะอันใช่เหตุ จิตอาฆาต ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน โทสะ ความประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความขุ่นจิต ธรรมชาติทีประทุษร้ายใจ

โกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ มีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด

การคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ความคิดประทุษร้าย

การคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ความคิดปองร้าย

ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต

นี้เรียกว่า พยาปาทนิวรณ์.

(๓) เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนปฏิฆนิมิต

เมื่อบุคคลใส่ใจปฏิฆนิมิตโดยไม่แยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ

(๔) เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนเมตตาเจโตวิมุติ

เมื่อบุคคลใส่ใจเมตตาเจโตวิมุติโดยแยบคาย พยาบาทที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

 

อ้างอิง: 
(๑) วัตถูปมสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๙๓ หน้า ๔๘
(๒)  นีวรณโคจฉกะ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๕๐ หน้า ๒๖๒
 

คำต่อไป