Main navigation
พละ ๕
Share:

(๑) กำลัง ๕ ประการ คือ
กำลัง คือ ศรัทธา ๑
กำลัง คือ วิริยะ ๑
กำลัง คือ สติ ๑
กำลัง คือ สมาธิ ๑
กำลัง คือ ปัญญา ๑

(๒) กำลัง คือ ศรัทธาเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

นี้เรียกว่ากำลัง คือ ศรัทธา

ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม ... ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

นี้เรียกว่ากำลัง คือ วิริยะ

ก็กำลัง คือ สติเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำแม้คำที่พูดไว้
นานได้

นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ

ก็กำลัง คือ สมาธิเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบไป

บรรลุทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป

เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

นี้เรียกว่ากำลัง คือ สมาธิ

ก็กำลัง คือ ปัญญาเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่หยั่งถึงความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส
เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ

นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา

(๓) ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธาในที่ไหน - พึงเห็นในโสตาปัตติยังคะ [องค์เป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดา

พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะในที่ไหน - พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔

พึงเห็นกำลัง คือ สติในที่ไหน - พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔

พึงเห็นกำลัง คือสมาธิในที่ไหน - พึงเห็นในฌาน ๔

พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญาในที่ไหน - พึงเห็นในอริยสัจ ๔

(๔) บรรดากำลัง ๕ ประการนี้ กำลัง คือ ปัญญา เป็นเลิศ เป็นยอด เป็นที่รวบรวม

(๕) ญาณที่ชื่อว่าพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหว

ญาณที่ชื่อว่าสัทธาพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวเพราะความไม่มีศรัทธา

ญาณที่ชื่อว่าวิริยพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน

ญาณที่ชื่อว่าสติพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวเพราะความประมาท

ญาณที่ชื่อว่าสมาธิพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวเพราะอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)

ญาณที่ชื่อว่าปัญญาพละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวเพราะอวิชชา

 

 

อ้างอิง:
(๑) สังขิตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๓ หน้า ๑๐
(๒) วิตถตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๔ หน้า ๑๐-๑๑
(๓) ทัฏฐัพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๕
(๓) ปุนกูฏสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๖
(๔) ปัจจเวกขณญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๖๕ หน้า ๑๐๖-๑๐๗
 
 
 

 

 

คำต่อไป