Main navigation
โพชฌงค์ ๗
Share:

(๑) โพชฌงค์ ๗ คือ 

สติสัมโพชฌงค์
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์

(๒)  ที่เรียกว่าโพชฌงค์ ๗ เพราะเป็นไปเพื่อการตรัสรู้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
เจริญปิติสัมโพชฌงค์
เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ 
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์  

อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ 

ที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้ ฉะนี้

(๓) เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฏ รัตนะ คือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ

(๔) โพชฌงค์ ๗ เป็นมรรคาเป็นเครื่องย่ำยีมารและเสนามาร

(๕) โพชฌงค์ ๗ นี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ เพื่อความไม่เสื่อม

(๖) โพชฌงค์ ๗ ไม่เป็นธรรมกั้น ไม่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของจิต อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุติ

(๗) โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ให้เป็นอริยธรรม นำตนออกจากทุกข์ ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้กระทำซึ่งโพชฌงค์ ๗ นั้น

(๘) โพชฌงค์ ๗ กระทำให้มีจักษุ กระทำให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความเจริญปัญญา ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

(๙) โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

(๑๐)  โพชฌงค์ ๗ คือ ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๗ ประการ

(๑๑) โพชฌงค์ ๗ เป็นวิธีในการละอาสวะด้วยการอบรม 

(๑๒) ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

(๑๓) ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

(๑๔) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ละมานะ ๓ อย่างได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ละได้แล้วก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักละมานะ ๓ อย่างได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด จักละได้ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ละมานะ ๓ อย่างได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ละได้ก็เพราะโพชฌงค์ ๗อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

(๑๕) ที่เรียกว่า คนโง่ คนใบ้ ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนไม่เจริญแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว

(๑๖) คนมีปัญญา ไม่ใช่คนใบ้ ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

(๑๗) ที่เรียกว่า คนจน ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนไม่เจริญแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว

(๑๘) ที่เรียกว่า คนไม่จน ก็เพราะโพชฌงค์ ๗ อันตนเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว

(๑๙) ทำปัจจัยภายในให้เป็นเหตุแล้ว เรายังไม่เล็งเห็นเหตุอื่นแม้อันหนึ่งเพื่อความบังเกิดแห่งโพชฌงค์ ๗ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

(๒๐) ทำปัจจัยภายนอกให้เป็นเหตุแล้ว เรายังไม่เล็งเห็นเหตุอื่น แม้อันหนึ่ง เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งโพชฌงค์ ๗ เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีเลย ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗


(๒๑) ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นเบื้องต้นแห่งโพชฌงค์

เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน

ภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวกอาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ย่อมกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ อย่างนี้


(๒๒) อาหารของโพชฌงค์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เลวและประณีต ที่เป็นส่วนข้างดำและข้างขาว มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ความริเริ่ม ความพยายาม ความบากบั่น มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ความสงบกาย ความสงบจิตมีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบนี้ นี้เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในความสงบนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

สมาธินิมิต อัพยัคคนิมิต (นิมิตแห่งจิตอันมีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน) มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในนิมิตนั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ก็อะไรเล่า เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่

การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์

การไม่กระทำให้มากซึ่งมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้ว ให้เจริญบริบูรณ์


วิธีการเจริญโพชฌงค์

(๒๓) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เจริญปิติสัมโพชฌงค์ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง

ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

(๒๔) เป็นไปเพื่อความดับตัณหา

(๒๕) เป็นไปเพื่อละธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เจริญปิติสัมโพชฌงค์ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน เธอมีจิตอันสัมโพชฌงค์อบรมแล้ว

(๒๖) ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึงละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้ ดูกรอุทายี เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์

(๒๗) ย่อมแทงทะลุ ย่อมทำลายกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ ที่ยังไม่เคยแทงทะลุ ยังไม่เคยทำลายเสียได้


(๒๘) การเจริญโพชฌงค์ตามกาล

เมื่อจิตหดหู่

สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เมื่อจิตฟุ้งซ่าน

สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจิตฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

เรากล่าวสติว่า มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง


(๒๙) ปริยายโพชฌงค์

ก็ปริยายที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง เป็นไฉน

แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นสติสัมโพชฌงค์
แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นสติสัมโพชฌงค์
คำว่า สติสัมโพชฌงค์ ย่อมมาสู่อุเทศดังนี้ แม้โดยปริยายนี้ สติสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ธรรมทั้งหลายในภายในที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
แม้ธรรมทั้งหลายในภายนอกที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจตราถึงความพินิจพิจารณาด้วยปัญญา ก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมมาสู่อุเทศดังนี้ แม้โดยปริยายนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์
แม้ความเพียรทางจิตก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์
คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้วิริยสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์
แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์
คำว่า ปีติสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ความสงบกายก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
แม้ความสงบจิตก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
คำว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
คำว่า สมาธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์ก็เป็น ๒ อย่าง

แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
แม้ความวางเฉยในธรรมทั้งหลายในภายนอก ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
คำว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดังนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ แม้โดยปริยายนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็น ๒ อย่าง

ปริยายนี้ที่โพชฌงค์ ๗ อาศัยแล้วเป็น ๑๔ อย่าง


การเจริญสติปัฏฐานให้โพชฌงค์ให้บริบูรณ์

(๓๐) ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

สติสัมโพชฌงค์
สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ

สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ค้นคว้าไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

วิริยสัมโพชฌงค์

สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิสย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ปีติสัมโพชฌงค์

สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ

สมาธิสัมโพชฌงค์

สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ฯ

อุเบกขาสัมโพชฌงค์

สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
            
ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้


การเจริญอัปมัญญาเพื่อผลอันยิ่งด้วยโพชฌงค์

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันสหรคตด้วยเมตตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

ถ้าเธอหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่ เธอก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าปฏิกูลในสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าไม่ปฏิกูลในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้นอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงแยกสิ่งไม่ปฏิกูลและปฏิกูลทั้งสองนั้นออกเสียแล้ว วางเฉยมีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็ย่อมวางเฉย มีสติสัมปชัญญะในสิ่งทั้งสองนั้นอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยกรุณา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยมุทิตา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอุเบกขา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ


ผลานิสงส์ของการเจริญโพชฌงค์

(๓๒) เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ คือ

จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลันในปัจจุบัน ๑

ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจจุบัน จะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย ๒

ถ้าไม่ได้บรรลุอรหัตตผล จะได้เป็นพระอนาคามี อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ๓

จะได้เป็นพระอนาคามี อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ๔

จะได้เป็นพระอนาคามี อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ๕

จะได้เป็นพระอนาคามี สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ๖

จะได้เป็นพระอนาคามี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป ๗


สภาวะของโพชฌงค์

(๓๓) ญาณที่ชื่อว่าสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะนำออก

ญาณที่ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะตั้งมั่น

ญาณที่ชื่อว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะเลือกเฟ้น

ญาณที่ชื่อว่าวิริยสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะประคองไว้

ญาณที่ชื่อว่าปีติสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะแผ่ซ่านไป

ญาณที่ชื่อว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะสงบระงับ

ญาณที่ชื่อว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน

ญาณที่ชื่อว่าอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะมีสภาวะพิจารณา

 

 

อ้างอิง:
(๑)  สัมปสาทนียสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๓ สูตรที่ ๕  ข้อที่ ๘๑
(๒)  โพธนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๓๕-๔๓๖
(๓) รัตนะ ๗ อย่าง พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๖
(๔) มารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๗
(๕) วุฑฒิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๘๙
(๖) อุปกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๗๘
(๗) อริยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๓๓
(๘)  นีวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๕๐๒
(๙) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๓๔
(๑๐)  อปริหานิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๔๘
(๑๑) สัพพาสวสังวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๘
(๑๒) กุสลสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๖๓
(๑๓) กุสลสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๖๕
(๑๔) วิธาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๓
(๑๕) ทุปปัญญสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๙
(๑๖) ปัญญวาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๑๑
(๑๗) ทฬิททสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๑๓
(๑๘) อทฬิททสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๑๕
(๑๙) อังคสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๑๘-๕๑๙
(๒๐) อังคสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๒๐-๕๒๑
(๒๑) อาทิจจสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๑๖-๕๑๗
(๒๒) อาหารสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๒๘-๕๓๔, ๕๔๐-๕๔๖
(๒๓) อานาปานสติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๙๑ หน้า ๑๖๐
(๒๔) นิโรธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๕๑-๔๕๒
(๒๕) เอกธัมมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๕๕-๔๕๖
(๒๖) ขยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๔๙-๔๕๐
(๒๗) นิพเพธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๔๕๓-๔๕๔
(๒๘)  อัคคิสูตร พระไตรปิฎกฉ บับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๖๘-๕๗๒ หน้า ๑๓๙-๑๔๐
(๒๙) ปริยายสูตร พระไตรปิฎกฉ บับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๕๙-๕๖๗
(๓๐) อานาปานสติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๙๐-๒๙๑ หน้า ๑๕๗-๑๖๐
(๓๑) เมตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๙๖-๖๐๐
(๓๒) สีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๘๒
(๓๓) ปัจจเวกขณญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๖๕ หน้า ๑๐๖-๑๐๗
 
 

คำต่อไป