Main navigation
พรหม
Share:

(๑) ก็ทางเพื่อความเป็นสหายของพรหมเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เมื่อเมตตาเจโตวิมุติอันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาพจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น

ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม 

ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เมื่อกรุณาเจโตวิมุติอันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาพจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น

ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม 

มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เมื่อมุทิตาเจโตวิมุติอันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาพจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น

ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม 

มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เมื่ออุเบกขาเจโตวิมุติอันภิกษุนั้นเจริญแล้วอย่างนี้ กรรมใดเป็นกามาวจรที่ภิกษุทำแล้ว กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น

ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม

(๒)  พรหมชั้นต่างๆ

(๘) พรหมกายิกา :  สัตว์พวกหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือนเทวดาผู้อยู่ใน ชั้นพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๒

(๘)  อาภัสสรพรหม : สัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เหมือน เทวดาชั้นอาภัสสระ นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๓

(๘)  สุภกิณหพรหม : สัตว์พวกหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เหมือน เทวดาชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๔

เวหัปผลพรหม

(๘) อสัญญีสัตว์ : สัตว์พวกหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เหมือน เทวดาผู้เป็นอสัญญีสัตว์ นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๕

(๘) อากาสานัญจายตนพรหม : สัตว์พวกหนึ่งผู้เข้าถึงชั้น อากาสานัญจายตนะ โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๖

(๘) วิญญาณัญจายตนพรหม : สัตว์พวกหนึ่งผู้เข้าถึงชั้น วิญญาณัญจายตนะ โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๗

(๘) อากิญจัญญายตนพรหม : สัตว์พวกหนึ่งผู้เข้าถึงชั้น อากิญจัญญายตนะ โดยคำนึงเป็นอารมณ์ว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๘

(๘) เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม : สัตว์พวกหนึ่งผู้เข้าถึงชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง นี้เป็นสัตตาวาสชั้นที่ ๙

การไปเกิดในพรหมชั้นต่างๆ 

เทวดาเหล่าพรหมกายิกา

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศล ธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ บรรลุปฐมฌาณ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจปฐมฌาน และถึงความปลื้มใจด้วยปฐมฌานนั้น ตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น น้อมใจไปในปฐมฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยปฐมฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจเมตตาฌานและถึงความปลื้มใจด้วยเมตตาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในเมตตาฌานนั้น น้อมใจไปในเมตตาฌานนั้น อยู่จนคุ้น ด้วยเมตตาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของ เทวดาเหล่าพรหมกายิกา

(๓)(๔) กัปหนึ่งเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าพรหมกายิกา

เมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นพรหมกายิกาตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

เทวดาเหล่าอาภัสสระ

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส แห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจทุติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยทุติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในทุติยฌานนั้น น้อมใจไปใน ทุติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยทุติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกอาภัสสระ  

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจกรุณาฌานและถึงความปลื้มใจด้วยกรุณาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในกรุณาฌานนั้น น้อมใจไปในกรุณาฌานนั้น อยู่จนคุ้น ด้วยกรุณาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าอาภัสสระ

(๓)(๔) สองกัปเป็น ประมาณอายุของเทวดาเหล่าอาภัสสระ

เมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นอาภัสสระตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

เทวดาเหล่าสุภกิณหะ

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจตติยฌานนั้น และถึงความปลื้มใจด้วยตติยฌานนั้น ตั้งอยู่ในตติยฌานนั้น น้อมใจไปในตติยฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยตติยฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจมุทิตาฌานและถึงความปลื้มใจด้วยมุทิตาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในมุทิตาฌานนั้น น้อมใจไปในมุทิตาฌานนั้น อยู่จนคุ้น ด้วยมุทิตาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ

(๓)(๔) สี่กัป เป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าสุภกิณหะ

เมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นสุภกิณหะตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

เทวดาเหล่าเวหัปผละ

(๓) บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มี สุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุ ให้สติบริสุทธิ์อยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจจตุตถฌานนั้น และถึงความปลื้มใจ ด้วยจตุตถฌานนั้น ตั้งอยู่ในจตุตถฌานนั้น น้อมใจไปในจตุตถฌานนั้น อยู่จนคุ้นด้วยจตุตถฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าเวหัปผละ

(๔) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ บุคคลนั้นพอใจ ชอบใจอุเบกขาฌานและถึงความปลื้มใจด้วยอุเบกขาฌานนั้น ยับยั้งอยู่ในอุเบกขาฌานนั้น น้อมใจไปในมุทิตาฌานนั้น อยู่จนคุ้น ด้วยอุเบกขาฌานนั้น ไม่เสื่อม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าเวหัปผละ

(๓)(๔) ๕๐๐ กัปเป็นประมาณอายุของเทวดาเหล่าเวหัปผละ

เมื่อคติ อุบัติมีอยู่ ปุถุชนดำรงอยู่ในชั้นเวหัปผละนั้นตราบเท่าตลอดอายุ ยังประมาณอายุทั้งหมดให้สิ้นไปแล้ว ย่อมเข้าถึงนรกบ้าง กำเนิดดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัยบ้าง ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นพรหมนั้นตราบเท่าสิ้นอายุ ย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง

เทวดาเหล่าสุทธาวาส

(๕) บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุปฐมฌาน... บรรลุทุติยฌาน... บรรลุตติยฌาน... บรรลุจตุตถฌาน...

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณใดมีอยู่ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตตุถฌาน นั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็น ของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส

(๖) บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา... กรุณา... มุทิตา... อุเบกขา... แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณใดมีอยู่ในเมตตาฌาน กรุณาฌาน มุทิตาฌาน อุเบกขาฌาน นั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็น ของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส

อายุของอรูปพรหม

(๗) อากาสานัญจายตนพรหม

เทพทั้งหลายผู้อุปบัติในอากาสานัญจายตนภพ มีประมาณอายุ ๒๐,๐๐๐ กัป เทพเหล่านั้น มีจิตดวงเดียวตั้งอยู่ตลอด ๒๐,๐๐๐ กัป

(๙) เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอายุประมาณสองหมื่นกัป

เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะมีอายุประมาณสี่หมื่นกัป

เทวดาพวกที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะมีอายุประมาณหกหมื่นกัป






ดู อัปปมัญญา

 

อ้างอิง:
(๑) สุภสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๗๓๐ หน้า ๕๐๑-๕๐๒
(๒) มูลปริยายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒ หน้า ๒-๔
(๓) ฌาณสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๓ หน้า ๑๒๕-๑๒๗
(๔) เมตตาสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๕ หน้า ๑๒๘-๑๒๙
(๕) ฌาณสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๔ หน้า ๑๒๗
(๖) เมตตาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๑๒๖ หน้า ๑๓๐
(๗) จิตตฐิติกถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๖๓๕ หน้า ๒๗๘
(๘) ววัตถสัญญาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๒๘ หน้า ๓๒๓-๓๒๔
(๙) อเนญชสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๕๖ หน้า ๒๕๔-๒๕๕

คำต่อไป