(๑) เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ภพ ๓ เหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เรียกว่าภพ
(๒) ภพ ๒ คือ
กรรมภพ ๑
อุปปัตติภพ ๑
กรรมภพ เป็นไฉน
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้เรียกว่า กรรมภพ
กรรมที่เป็นเหตุให้ไปสู่ภพแม้ทั้งหมด ก็เรียกว่า กรรมภพ
อุปปัตติภพ เป็นไฉน
กามภพ
รูปภพ
อรูปภพ
ภพ ๓ คือ
สัญญีภพ คือ สัตว์ที่มีนามขันธ์ (มีจิตและเจตสิก) ได้แก่ สัตว์ในกามภูมิ ๑๑, ในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตต) และในอรูปภูมิ ๓ (เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)
อสัญญีภพ คือ สัตว์ที่ไม่มีนามขันธ์ (ไม่มีจิตและเจตสิก) ได้แก่สัตว์ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ ภูมิ
เนวสัญญานาสัญญาภพ คือ สัตว์ที่จะนับว่าไม่มีนามขันธ์ก็ไม่ใช่ จะว่ามีนามขันธ์ก็ไม่เชิง ได้แก่ สัตว์ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ
ภพอีก ๓ คือ
เอกโวการภพ (สัตว์ที่เกิดมาโดยมีรูปขันธ์เพียงขันธ์เดียว ได้แก่ สัตว์ใน อสัญญสัตตภูมิ)
จตุโวการภพ (สัตว์ที่เกิดมาโดยมีขันธ์ ๔ ขันธ์ (เว้นรูปขันธ์) ได้แก่ สัตว์ใน อรูปภูมิ ๔ ภูมิ)
ปัญจโวการภพ (สัตว์ที่เกิดมาโดยมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ขันธ์ ได้แก่ สัตว์ ในกามภูมิ ๑๑ และในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตต))
นี้เรียกว่า อุปปัตติภพ
กรรมภพและอุปปัตติภพดังกล่าวมานี้ นี้เรียกว่า ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
(๓) ความเกิดใหม่ในภพเกิดจากความยินดียิ่งในอารมณ์ ของสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกัน มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ
เมื่อสิ้นอวิชชา เมื่อวิชชาเกิด และตัณหาดับ ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตจะไม่มี
(๔) กิเลสเครื่องนำไปในภพ
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิต ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณนี้เรากล่าวว่า กิเลสเครื่องนำไปในภพ
เพราะความดับสนิทแห่งกิเลสเหล่านั้น เรากล่าวว่าเป็นธรรมที่ดับสนิทแห่งกิเลสเครื่องนำไปในภพ
(๕) ภพ ย่อมมีได้ด้วยเหตุเพียงไร
กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุไม่มีแล้ว กามภพไม่พึงปรากฏ
เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย
ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก
ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุไม่มีแล้ว รูปภพไม่พึงปรากฏ
เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วย
ประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก
ก็กรรมที่อำนวยผลให้อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพไม่พึงปรากฏ
เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก
ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล
(๖) เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุด
แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
(๗) เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับภพ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ก็ภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับภพ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพ เป็นไฉน
ได้แก่ ภพ ๓ เหล่านี้ คือ กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร) รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร) อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)
เหตุเกิดแห่งภพ ย่อมมีเพราะอุปาทานเป็นเหตุให้เกิดความดับภพ ย่อมมีเพราะอุปาทานดับ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพ
เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับภพ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับภพอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
(๗) สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๑๙ หน้า ๖๗