Main navigation
โภคทรัพย์
Share:

(๑) อาหารของโภคสมบัติ

ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ

ความเกียจคร้าน ความไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นอันตรายแก่โภคสมบัติ

(๒) ธรรมในการบริหารโภคทรัพย์

ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร ๔ ประการ คือ

อุฏฐานสัมปทา ๑
อารักขสัมปทา ๑
กัลยาณมิตตตา ๑
สมชีวิตา ๑ ฯ

ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา

ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา

ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สั่งสนทนากับบุคคลซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

ศึกษาศรัทธาสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา

ศึกษาศีลสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

ศึกษาจาคสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ

ศึกษาปัญญาสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา

ก็สมชีวิตาเป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้ว เลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันนั้น

ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถงจะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อฉะนั้น

ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา

แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ นี้เรียกว่าสมชีวิตา


(๓) พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ไม่ควรจะได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือเพื่อทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีขึ้น

องค์ ๓ ประการ คือ

พ่อค้าในโลกนี้
เวลาเช้าไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ 
เวลาเที่ยงไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ 
เวลาเย็นไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ

พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้ สมควรจะได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือ ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น

องค์ ๓ ประการ คือ

พ่อค้าในโลกนี้
เวลาเช้าจัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ 
เวลาเที่ยงจัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ 
เวลาเย็นจัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ


(๔) พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือไม่นานเลย องค์ ๓ ประการ คือ

พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนที่มีตาดี ๑ มีธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ ๑

พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดีอย่างไร

พ่อค้าในโลกนี้ย่อมรู้สิ่งที่จะซื้อขายว่า สิ่งที่พึงขายนี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ จักได้ทุนเท่านี้ มีกำไรเท่านี้

พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดี ด้วยอาการอย่างนี้

พ่อค้าชื่อว่ามีธุระดีอย่างไร

พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย

พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีธุระดี ด้วยอาการอย่างนี้

พ่อค้าชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคนซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ทราบว่า พ่อค้าผู้นี้เป็นคนมีตาดี มีธุระดี สามารถที่จะเลี้ยงบุตรภรรยาและใช้คืนให้แก่เราตามเวลาได้ เขาก็เชื้อเชิญพ่อค้านั้นด้วยโภคะว่า ท่านจงนำเอาโภคะไปเลี้ยงดู บุตรภรรยา และใช้คืนให้แก่เราตามเวลา


(๕) อุปมาโภคทรัพย์ไม่มีแก่คนตาบอด

บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

คนตาบอด ๑
คนตาเดียว ๑
คนสองตา ๑

บุคคลตาบอดเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ไม่มีนัยน์ตาเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว

นี้เรียกว่าคนตาบอด

บุคคลตาเดียวเป็นไฉน 

บุคคลบางคนในโลกนี้มีนัยน์ตาอันเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น แต่ไม่มีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว

นี้เรียกว่าคนตาเดียว

ก็บุคคลสองตาเป็นไฉน

มีนัยน์ตาเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ทั้งมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมที่เป็นกุศลและ
อกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวหรือประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว

นี้เรียกว่าคนสองตา

โภคทรัพย์เห็นปานดั่งนั้น ย่อมไม่มีแก่คนตาบอดเลย และคนตาบอดย่อมไม่ทำบุญอีกด้วย โทษเคราะห์ ย่อมมีแก่คนตาบอดเสียจักษุในโลกทั้งสอง

คนตาเดียวนั้นเป็นผู้คลุกเคล้ากับธรรมและอธรรม แสวงหาโภคทรัพย์โดยการคดโกง และการพูดเท็จ อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมยทั้งสองอย่าง ก็มาณพผู้บริโภคกาม ย่อมเป็นคนฉลาดที่จะรวบรวมโภคทรัพย์ เขาผู้เป็นคนตาเดียว จากโลกนี้แล้วไปนรกย่อมเดือดร้อน

อนึ่ง คนสองตา เรากล่าวว่าเป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด คนสองตานั้น ย่อมให้ทรัพย์ที่ตนได้มาด้วยความหมั่นเป็นทานแต่โภคะที่ตนหาได้โดยชอบธรรม เพราะเป็นผู้มีความดำริประเสริฐสุด มีใจไม่สงสัย ย่อมเข้าถึงฐานะอันเจริญ ซึ่งบุคคลไปถึงแล้วไม่เศร้าโศก

บุคคลควรเว้นคนตาบอดกับคนตาเดียวเสียให้ห่างไกล แต่ควรคบคนสองตา ซึ่งเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุด


(๖) ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ประการ

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่าง ๆ ในกลางคืน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การเที่ยวดูมหรสพเป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะประการ ๑

การดื่มน้ำเมาคือสุราอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีโทษ ๖ ประการ คือ ความเสื่อมทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท เป็นบ่อเกิดแห่งโรค เป็นเหตุเสียชื่อเสียง เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย และเป็นเหตุทอนกำลังปัญญา

การเที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ ประการ คือ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองและไม่รักษาตัวเอง บุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติ เป็นที่ระแวงของคนอื่น มีคำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้น ๆ และเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากย่อมแวดล้อม

การดูมหรสพ มีโทษ ๖ ประการ คือ รำ ขับร้อง ประโคม เสภา เพลง หรือเถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

การเล่นการพนัน มีโทษ ๖ ประการ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป มีความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน เมื่อไปพูดในที่ประชุมจะฟังไม่ขึ้น ถูกมิตรหมิ่นประมาท และไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยาได้

การคบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษ ๖ ประการ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน นักเลงเจ้าชู้ นักเลงเหล้า เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า และเป็นคนหัวไม้

ความเกียจคร้าน ๖ ประการ คือ ไม่ยอมทำงาน โดยมักอ้างว่าหนาว ร้อน เวลาเย็นแล้ว ยังเช้าอยู่ หิว หรือกระหาย ดังนั้นเมื่อผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้นไป


(๒) ทางเสื่อมและทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ

โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ

เป็นนักเลงหญิง ๑
เป็นนักเลงสุรา ๑
เป็นนักเลงการพนัน ๑
มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑

เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียว ไม่มีความเจริญเลย ฉันใด

โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑

โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ

ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑
ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑
ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑
มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑

เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้ สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด

โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑


(๗) เหตุให้ตระกูลตั้งอยู่ในความมั่งคั่งได้นาน

ตระกูลใดถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน ๔ หรือสถานใดสถานหนึ่ง คือ

ไม่แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑
ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑
ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ๑
ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑

ตระกูลใดถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้นานเพราะสถาน ๔ หรือสถานใดสถานหนึ่งบรรดาสถาน ๔ นั้น คือ

แสวงหาพัสดุที่หายแล้ว ๑
ซ่อมแซมพัสดุที่คร่ำคร่า ๑
รู้จักประมาณในการบริโภค ๑
ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นพ่อบ้านแม่เรือน ๑


(๘) โทษและอานิสงส์แห่งโภคทรัพย์

โทษเพราะโภคทรัพย์ ๕ ประการ คือ

๑.  ไฟย่อมทำลายได้
๒.  น้ำย่อมทำลายได้
๓.  พระราชาย่อมเอาไปได้
๔.  โจรย่อมเอาไปได้
๕.  ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักย่อมเอาไปได้ 

อานิสงส์เพราะโภคทรัพย์ ๕ คือ เพราะอาศัยโภคทรัพย์

๑.  บุคคลจึงเลี้ยงตนให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ

๒.  เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ

๓.  เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวารให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ

๔.  เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุขเอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขได้โดยชอบ

๕.  ย่อมบำเพ็ญทักษิณาทานที่มีผลเลิศในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นทางสวรรค์ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ 


(๙) ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม

เลี้ยงตน มารดาบิดา บุตร ภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ

นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๑

เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๒

ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๓

ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑. ญาติพลี (บำรุงญาติ)
๒. อติถิพลี (ต้อนรับแขก)
๓. ปุพพเปตพลี (บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้)
๔. ราชพลี (บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ)
๕. เทวตาพลี (บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา)

นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๔

บำเพ็ญทักษิณามีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว

นี้เป็นประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ข้อที่ ๕

ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้วและโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน

ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้นถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความเดือดร้อน

อริยสาวกย่อมไม่มีความเดือดร้อนด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ

นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า

เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลี ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว

บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์


(๑๐) การใช้โภคทรัพย์โดยสมควรแก่เหตุ

อริยสาวกนี้ย่อมเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรมได้มาแล้วโดยธรรม

กรรม ๔ ประการ คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเลี้ยงตน เลี้ยงมารดา บิดา เลี้ยงบุตร ภรรยา คนใช้ คนงาน และบริวาร เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ ให้เป็นสุข เอิบอิ่ม บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมป้องกันอันตรายทั้งหลายที่เกิดแต่ไฟ แต่น้ำ แต่พระราชา แต่โจร หรือแต่ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ กระทำตนให้สวัสดี

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ ทำพลี ๕ ประการ คือ ญาติพลี อติถิพลี (การรับรองแขก) ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลี ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงแล้วโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อีกประการหนึ่ง อริยสาวก ย่อมยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ให้ตั้งไว้เฉพาะในสมณพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาทมัวเมา ผู้ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนตนผู้เดียว ยังตนผู้เดียวให้สงบ ยังตนผู้เดียวให้ดับกิเลส เห็นปานนั้น ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ ฯลฯ

นี้เป็นฐานะข้อที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว คือ ถึงโดยควรแก่เหตุ ได้บริโภคแล้วโดยควร

อริยสาวกนั้นชื่อว่าเป็นผู้กระทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้

โภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไป นอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สิ้นเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้สอยโดยไม่สมควรแก่เหตุ

ส่วนโภคทรัพย์ของใคร ๆ ถึงความสิ้นไปด้วยกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ เราเรียกว่าสิ้นเปลืองไปโดยเหตุอันควร สิ้นเปลืองไปโดยสถานที่ควร ใช้สอยโดยสมควรแก่เหตุ

โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว คนที่ควรเลี้ยง เราได้เลี้ยงแล้ว เราได้ข้ามพ้นอันตรายทั้งหลายไปแล้ว ทักษิณามีผลอันเลิศ เราได้ให้แล้ว

อนึ่ง พลีกรรม ๕ ประการ เราได้กระทำแล้ว ท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์เราได้บำรุงแล้ว

บัณฑิตอยู่ครอบครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กรรมที่ไม่เดือดร้อนในภายหลังเราได้กระทำแล้ว

นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ เมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่แล้วในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ทีเดียว ครั้นเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในโลกสวรรค์


(๑๑) โภคทรัพย์หมดสิ้นเปล่า ไม่ถึงการบริโภค
 
อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ยังตน มารดาและบิดา บุตรและภรรยา ทาสกรรมกร มิตรและอำมาตย์ ให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำเลย ไม่ยังทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ให้ตั้งอยู่ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบอย่างนี้ พระราชาหรือโจรทั้งหลายย่อมนำไปบ้าง ไฟย่อมไหม้ไปเสียบ้าง น้ำย่อมพัดไปเสียบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักย่อมนำไปเสียบ้าง
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่มิได้ใช้สอยโดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่าโดยไม่ถึงการบริโภค
 
ส่วนสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมยังตน มารดาและบิดา บุตรและภรรยา ทาสกรรมกร มิตรและอำมาตย์ ให้ได้รับความสุข ให้ได้รับความอิ่มหนำ ย่อมประดิษฐานไว้ซึ่งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีอารมณ์ดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

โภคะเหล่านั้นของเขาที่บริโภคโดยชอบอยู่อย่างนี้ พระราชาหรือโจรทั้งหลายย่อมนำไปไม่ได้ ไฟย่อมไม่ไหม้ น้ำย่อมไม่พัดไป ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักย่อมนำไปไม่ได้
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะที่บริโภคอยู่โดยชอบของเขาเหล่านั้น ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า
 
คนชั่วได้ทรัพย์แล้ว ย่อมไม่บริโภคด้วยตนเอง ย่อมไม่ให้ทาน ส่วนวิญญูชนผู้มีปัญญา ได้โภคะแล้ว เขาย่อมบริโภค และทำกิจ เขาเป็นคนอาจหาญ เลี้ยงดูหมู่ญาติ ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์


ผู้ประมาทในโภคทรัพย์มีมาก
           
(๑๒) สัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่ง ๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก

ส่วนว่าสัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่ง ๆ แล้ว ย่อมมัวเมา ประมาท ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนมากมายในโลก

(๑๓) กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี แม้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ยังจักกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่ เพราะเหตุแห่งกาม เพราะเรื่องกาม เพราะมีกามเป็นเค้ามูล ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ ที่น่าใคร่ มักมาก หลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการก้าวล่วง (ประพฤติ ผิดในสัตว์พวกอื่น) ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม


(๑๔) โภคะย่อมฆ่าคนทรามปัญญา

ชื่อว่าบุคคลผู้มีปัญญาทราม ได้โภคะทั้งหลายแล้วไม่แสวงหานิพพาน อนึ่ง ตัณหาซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยโภคะทั้งหลาย ย่อมฆ่าคนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน

โภคะทั้งหลายย่อมฆ่าคนทรามปัญญา
แต่ไม่ฆ่าคนผู้แสวงหาฝั่ง
คนทรามปัญญาย่อมฆ่าตนเหมือนฆ่าผู้อื่น
เพราะความทะยานอยากในโภคะ


(๑๕) กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวก

๑. แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ เมื่อหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ
- ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

๒.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ เมื่อหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ
- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน คือ

- เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ

๓.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ เมื่อหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ

ควรสรรเสริญโดยสถาน ๒ คือ

- เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- แจกจ่าย กระทำบุญ

๔.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง เมื่อหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน  คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ

ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ
- ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

๕.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง เมื่อหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน  คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ

ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ
- ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

๖.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยทารุณบ้าง ไม่ทารุณบ้าง เมื่อหาได้แล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน  คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์ โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ
- เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- แจกจ่าย กระทำบุญ

ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ
- แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณ

๗.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ เมื่อหาได้แล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๑ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ

ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ

- ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ
- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

๘.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ เมื่อหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แต่ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ
- เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ

ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ

- ไม่แจกจ่าย ไม่กระทำบุญ

๙.  แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมโดยไม่ทารุณ เมื่อหาได้แล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่ายกระทำบุญ แต่เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น

กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ
- เลี้ยงตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ
- แจกจ่าย กระทำบุญ

ควรติเตียนโดย ๑ สถาน คือ

- เป็นผู้กำหนัด หมกมุ่น พัวพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคทรัพย์นั้น

๑๐. แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ เมื่อหาได้แล้ว ย่อมเลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ แจกจ่าย กระทำบุญ และเป็นผู้ไม่กำหนัด ไม่หมกมุ่น เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์นั้น

กามโภคีบุคคลนี้ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน คือ

- แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม โดยไม่ทารุณ
- เลี้ยงตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ
- แจกจ่าย กระทำบุญ
- เป็นไม่ผู้กำหนัด ไม่หมกมุ่น ไม่พัวพัน เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคทรัพย์นั้น

กามโภคีจำพวกสุดท้ายนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นใหญ่สูงสุด ดีกว่ากามโภคีบุคคล จำพวกอื่น

 

 

อ้างอิง:
(๑) อิฏฐสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๗๓ หน้า ๑๒๑
(๒) ทีฆชาณุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๔๔ หน้า ๒๒๒-๒๒๔
(๓) ปาปณิกสูตรที่ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๕๘ หน้า ๑๑๐
(๔) ปาปณิกสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๕๙ หน้า ๑๑๑
(๕) อันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๖๘ หน้า ๑๒๒-๑๒๓
(๖) สิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๑๗๘-๑๘๔ หน้า ๑๓๙-๑๔๑
(๗) กุลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๕๘ หน้า ๒๓๕
(๘) โภคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๒๗ หน้า ๒๓๕
(๙) อาทิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๔๑ หน้า ๔๐-๔๑
(๑๐) ปัตตกรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๖๑ หน้า ๖๕-๖๗
(๑๑) ปฐมาปุตตกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๘๖-๓๘๙ หน้า ๑๑๑-๑๑๓
(๑๒) อัปปกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๔๐-๓๔๒ หน้า ๙๒-๙๓
(๑๓) อรรถกรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๔๓-๓๔๕ หน้า ๙๓-๙๔
(๑๔) คาถาธรรมบท ตัณหาวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๔ หน้า ๔๓ และอรรถกถาเรื่อง เศรษฐีผู้ไม่มีบุตร
(๑๕) กามโภคีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๙๑ หน้า ๑๕๓-๑๕๗
 

 

คำต่อไป