(๑) ภยาคติ เป็น ๑ ใน อคติ ๔
(๒) คำว่า ไม่พึงถึงภยาคตินั้น ความว่า เมื่อถึงภยาคติ ถึงอย่างไร
ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ คิดว่า
ผู้นี้อาศัยความประพฤติไม่เรียบร้อย อาศัยความยึดถือ อาศัยพรรคพวกมีกำลัง เป็นผู้ร้ายกาจหยาบคาย จักทำอันตรายแก่ชีวิต หรือทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ ดังนี้ จึงขลาด
เพราะกลัวต่อผู้นั้น
ย่อมแสดงอธรรมว่าธรรม แสดงธรรมว่าอธรรม
แสดงอวินัยว่าวินัย แสดงวินัยว่าอวินัย
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต ว่าพระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา ว่าพระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา
แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติว่าพระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว
แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว ว่าพระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติ
แสดงอนาบัติว่าอาบัติ แสดงอาบัติว่าอนาบัติ
แสดงอาบัติเบาว่าอาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่าอาบัติเบา
แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าอาบัติไม่มีส่วนเหลือ
แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่าอาบัติมีส่วนเหลือ
แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าอาบัติไม่ชั่วหยาบ
แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าอาบัติชั่วหยาบ ว่าอาบัติไม่ชั่วหยาบ
แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าอาบัติชั่วหยาบ
ภิกษุผู้ถึงภยาคติ เพราะวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อความไม่เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ภิกษุผู้ถึงภยาคติเพราะวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงติเตียน และย่อมประสพบาปมิใช่บุญมาก
ภิกษุเมื่อถึงภยาคติ ย่อมถึงอย่างนี้