Main navigation

การทำงานร่วมกันของสติ สมาธิ ปัญญา

Q ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ ไม่อยากเกิดแล้วค่ะ ถ้าจะปฏิบัติจริงจัง ควรเน้นการฝึกสติ หรือเน้นการฝึกสมาธิดีคะ จึงจะได้ผล

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ความจริง ถ้าศีลหมดจดดี วิรัติเด็ดขาดพอควรแล้ว ต้องเพียรต่ออีกสามประการคือ สติ สมาธิ ปัญญา นี่คือสามผู้ยิ่งใหญ่แห่งการบรรลุธรรม

ในมูลสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สติเป็นใหญ่ สมาธิเป็นประมุข ปัญญาเป็นยอด”

สติ เป็นโสภณสาธารณะเจตสิก ประกอบกับ มนสิการ (การกำหนดรู้)

สมาธิ เป็นชุดโสภณสาธารณะเจตสิก คือ สติ เอกัคคตา (จิตเป็นหนึ่ง) ประกอบกับ มนสิการ (การกำหนดรู้) กายลหุตา (กายเบา) จิตตลหุตา (จิตเบา) กายมุทุตา (กายอ่อนโยน) จิตตมุทุตา (จิตอ่อนโยน) กายกัมมัญญตา (กายควรแก่การงาน) จิตตกัมมัญญตา (จิตควรแก่การงาน) กายุชุกตา (กายตรง) จิตตุชุกตา (จิตตรง) กายปัสสัทธิ (กายสงบ) จิตตปัสสัทธิ (จิตสงบ) กายปาคุญญตา (กายคล่องแคล่ว) จิตตปาคุญญตา (จิตคล่องแคล่ว) และตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง) ทั้งประกอบกับสัพพสาธารณะเจตสิก คือ เวทนา สัญญา เจตนา อัปมัญญา และประกอบกับปกิณกเจตสิกเป็นบางช่วง ได้แก่ วิตก วิจาร ฉันทะ วิริยะ ปีติ

นี่สมาธิเป็นประมุขเลยต้องมีสมาชิกเยอะ

ปัญญา เป็นปัญญินทรีย์เจตสิก ประกอบกับสติ และชุดสมาธิเจตสิกที่กลั่นบริสุทธิ์แล้ว

สติ สมาธิ ปัญญา สามองค์ธรรมนี้ต้องทำงานร่วมกันจึงบรรลุธรรมได้

การทำงานร่วมกันของ สติ สมาธิ ปัญญา

ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านพระสารีบุตรบอกว่า สติคือความตั้งมั่น สมาธิคือความไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญาคือความรู้ชัดเห็นชัด

ในภาคปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างนี้ เราต้องเจริญสติก่อน กำหนดรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยจิตตั้งมั่น แต่การกำหนดรู้นอกสมาธินั้น มักจะเผลอฟุ้งซ่าน หากบังคับไม่ให้เผลอ จิตก็จะเกร็งไม่ควรแก่การงาน

ดังนั้น จึงต้องกลั่นสติให้เป็นสมาธิ ด้วยเหตุนี้สัมมาสติจึงเป็นมรรคที่เจ็ด สัมมาสมาธิเป็นมรรคที่แปด 

เอาอะไรเข้าสมาธิล่ะ ก็เอาสตินั่นแหละเข้าสมาธิ ถ้าเปรียบความสัมพันธ์ คือ พาสติเข้าบ้านผสานพลังกับพี่น้องโสภณเจตสิกเพื่อสร้างปัญญาญาณ

สมาธิเป็นบ้านของสติ เพราะในสมาธิ สติจะสบายที่สุด ตั้งมั่นที่สุด มีกำลังที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ในฌานสี่จึงประกอบด้วยสติบริสุทธิ์และอุเบกขาอยู่ สติจะบริสุทธิ์ตั้งแต่ฌานสี่ถึงฌานเจ็ด สตินอกฌานไม่บริสุทธิ์ คุณภาพต่ำ ในฌานนั้นนอกจากสติจะบริสุทธิ์แล้ว สติยังใหญ่ตามระดับของสมาธิด้วย สติในบ้านสมาธิ จิตจึงเบา อ่อนโยน ควรแก่การงาน สงบ คล่องแคล่ว เป็นกลาง สามารถวิปัสสนาต่อได้

ปัญญาก็เกิดในสมาธิ พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกว่า “จิตที่เป็นสมาธิย่อมรู้ทุกสิ่งตามเป็นจริง” และ “ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีสมาธิ” ด้วยเหตุนี้สัมมาญาณะจึงเป็นผลต่อจากสัมมาสมาธิ นำสู่สัมมาวิมุตติโดยตรง หากไม่มีปัญญา วิมุตติไม่ได้

ท่านปัญจวัคคีย์ปฏิบัติสติสมาธิกับพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดมาหกปีจนแก่กล้า แต่ก็ยังไม่บรรลุธรรม จนพระพุทธเจ้ามาเปิดปัญญาให้ บังเกิดญาณ จึงบรรลุธรรม

สำคัญที่สุดตอนจะบรรลุธรรมปัญญาต้องเป็นระดับญาณ จึงเรียกว่า วิปัสสนาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจเวกขณญาณ วิมุตติญาณ และญาณอื่น ๆ อีกมาก

ปัญญาระดับความเข้าใจจะบรรลุธรรมไม่ได้ ปุถุชนฟังธรรมมาเยอะ อ่านคัมภีร์มามาก ปฏิบัติธรรมมานาน แต่ไม่บรรลุธรรม เพราะยังไม่ถึงขั้นญาณ แล้วจะถึงญาณได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ญาณย่อมมีแก่ผู้มีฌาน ญาณย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน” ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอานนท์จึงบอกว่า การบรรลุธรรมบรรลุได้ในฌานเท่านั้น (อัฏฐกนาครสูตร)

เราเจริญปัญญาได้โดยการเอาสติบริสุทธิ์ในสมาธินั่นแหละ ส่องดูความเป็นจริงทั้งปวง จนรู้ชัดเห็นชัดธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบกัน ที่มีคุณสมบัติไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเห็นทุกอย่างไม่เป็นตนจริง ๆ จึงสรุปลงรวมเป็นทุกขอริยสัจ

จากนั้นก็ส่องดูว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย ก็จะพบตัณหา และอวิชชาเป็นตัวการหลัก แล้วส่องดูอีกว่าสภาวะปราศจากทุกข์มีอยู่ใหม ก็จะพบนิโรธที่ผ่องใส สงัด ปราศตัณหาอวิชชา จากนั้นก็ส่องดูวิธีออกจากตัณหาอวิชชา ก็จะเห็นมรรค คือ วิราคะ จริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสทุกประการ จึงตั้งความเพียร วิปัสสนาส่องดูตัณหาหรืออวิชชาตัวใดตัวหนึ่งจริงจัง เมื่อมีปัญญารู้ชัดเห็นชัดแล้วก็วิราคะ คลายกำหนัด สลัดคืนเสีย เมื่อตัณหาหรืออวิชชาดับสูญแล้วก็ถึงวิมุตติ ก็จะปรากฏวิมุตติญาณขึ้นมา รู้ชัดเห็นชัดว่าชาติสิ้นแล้ว กิเลสขาดสูญสิ้นแล้ว แล้ววิมุตติญาณทัศนะ ปัญญาใหญ่ที่สุดที่มนุษย์ผู้เพียรถูกทางถึงผลพึงได้

ญาณนี้จะแจ่มแจ้งสัจธรรมความเป็นจริงทั้งปวงอย่างไม่เคยรู้เห็นมาก่อน และไม่มีใครในโลกสอนได้ ต้องรู้เองเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง ตอนที่ฟังญาณคนอื่นนั้น ยังไงก็ไม่แจ่มแจ้งและไม่สิ้นสงสัย ดังนั้น ต้องปฏิบัติให้ถึงเอง พระพุทธองค์จึงทรงบอกว่า ธรรมเป็นสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง  

โดยสรุป สติอย่างเดียวบรรลุธรรมไม่ได้ แชมป์กีฬาทั้งหลายมีสติเป็นเลิศแต่ไม่บรรลุธรรม ในสติปัฏฐานสูตรจึงให้ยกจิตขึ้นสู่โพชฌงค์และมรรค ซึ่งมีสมาธิเป็นที่สุดด้วย

หรือ สมาธิอย่างเดียวก็ไม่บรรลุธรรม นักปฏิบัติจิตบนเขาหิมาลัยมีสมาธิเป็นเลิศแต่ไม่บรรลุธรรม

หรือ ปัญญาอย่างเดียวก็ไม่บรรลุธรรม นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบกฎธรรมชาติทั้งหลายมีปัญญาเป็นเลิศแต่ก็ไม่บรรลุธรรม

ต่อเมื่อใด สติเป็นใหญ่ สมาธิเป็นประมุข ปัญญาเป็นยอด ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความบริสุทธิ์ เมื่อนั้นจึงบรรลุธรรม เป็นอริยะอุบัติอีกองค์ในจักรวาล

ดังนั้น ให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างซื่อตรง จึงจะบรรลุธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงพาเราเข้าถึง

ปฏิบัติถูกตรงจริงจังก็จะจังของจริงในที่สุด