Main navigation

ทำไมจึงต้องมีการไว้ทุกข์

Q ถาม :

ในหนังสือ "อตุโล ไม่มีใดเทียม" หน้า ๔๖๔ มีโยมถามหลวงปู่ดูลย์ว่า ควรจะไว้ทุกข์อย่างไร หลวงปู่ดูลย์ท่านตอบว่า "ทุกข์ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้ว ให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม" เลยสงสัยว่า ทำไมวัฒนธรรมโลกต้องไว้ทุกข์กันด้วยคะ และเราจะออกจากการปฏิบัติตาม ๆ กันได้อย่างไร ขอท่านอาจารย์เมตตาให้แนวทางด้วยค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

การไว้ทุกข์ไม่ใช่อารยธรรมโลก เป็นเพียงธรรมเนียมของบางชนเผ่า

เผ่ายูโรเปี้ยน ชาวตะวันตก ไม่มีการไว้ทุกข์ มีแต่การกล่าวสรรเสริญผู้ตาย และแสดงความเสียใจต่อญาติเล็กน้อย

เผ่าอาหรับ อิสลามทั้งหมด ห้ามไว้ทุกข์ ทำได้แค่แสดงความอาลัยเล็กน้อย

เผ่าอินเดีย ที่นับถือฮินดู ไว้ทุกข์ ประมาณ 10 วัน บวกลบ

เผ่าจีน ไว้ทุกข์ด้วยชุดขาว

เผ่าธิเบต  แบกศพขึ้นหิมาลัย เอาไปคืนให้ธรรมชาติ วางไว้ที่ลานไหล่เขา สัตว์ทั้งหลายทำหน้าที่รีไซเคิลศพ ญาติผูกผ้าสีสดสีใดก็ได้ที่ผู้ตายชอบไว้บนราวเพื่อส่งจิตสู่สวรรค์ แล้วก็กลับ

เผ่าไทย สมัยรัชกาลที่ห้าทำไว้ดีมาก เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต ประชาชนทั้งประเทศสวมชุดขาว รักษาศีล ถวายบุญแด่พระองค์ บรรยากาศทั้งประเทศเต็มไปด้วยกุศล งามมาก

ดังนั้น การไว้ทุกข์ ไม่ใช่อารยธรรมโลก และสีต่าง ๆ ก็ไม่ใช่สัญลักษณ์ของทุกข์ เป็นแค่ธรรมเนียมของชนบางเผ่า
 
แล้วทำไมผู้คนจึงไว้ทุกข์

เริ่มจากความเศร้าโศก ซึ่งเกิดจากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก โดยไม่อยากเสียไป เป็นความไม่ได้ดังใจ แต่ก็ไม่มีอำนาจทัดทาน จำต้องจำนนรับความไม่ได้ดังใจนั้น จึงโศกสลด

เมื่อไม่อาจดับความโศกได้ ความโศกก็แตกตัว เมื่อมากเข้าก็ทะเล็ดออกมาเป็นความร่ำไรรำพัน เช่น ไม่น่าจากฉันไปเลย  ทำไมด่วนจากฉันไป แล้วต่อไปนี้ฉันจะพึ่งใคร ชีวิตฉันจะเป็นอย่างไรต่อไป  ล้วนเป็น 'ฉัน' ที่ดิ้นรนรำพันไปตามอาการเห็นแก่ตัว คำนึงถึงแต่ตัวเอง

เมื่อไม่อาจดับความรำพันได้ ทุกข์ก็ก่อตัวใหญ่ขึ้นท่วมทับจิต จึงไว้ทุกข์ระยะหนึ่ง เพื่อฉันจะได้เก็บความทุกข์ไว้ขบเคี้ยวต่อไป

เมื่อจะขบเคี้ยวทุกข์อยู่คนเดียวก็แปลกประหลาด เคอะเขิน จึงเกณฑ์คนอื่นมาเป็นทุกข์ด้วยกัน จึงกำหนดเป็นธรรมเนียมว่าทุกคนต้องไว้ทุกข์ให้ผู้ตาย จะได้ขบเคี้ยวความทุกข์อย่างเป็นที่ยอมรับของสังคม คนอื่นที่ไม่รู้สัจจะเช่นกัน เมื่อธรรมเนียมกำหนดให้ไว้ทุกข์ ก็พยายามทำตนให้เป็นทุกข์ตามๆ กันไป ช่วยกันผลิตทุกข์ต่อ แทนที่จะช่วยกันดับทุกข์ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงโปรด หลวงปู่หลวงพ่อสอน เลยกลายเป็นช่วยกันเพิ่มทุกข์ให้มากและยาวนาน

ทั้งหมดนั้น คือ อัตตา และเป็นอัตตาที่กลืนกินความเจ็บปวดจนเศร้าหมอง จิตเสียหาย สติปัญญาเสื่อมไปชั่วขณะ
 
แล้วการไว้ทุกข์เป็นประโยชน์ต่อผู้ตายไหม

ลองพิจารณาความเป็นจริง

หากเราเป็นผู้ตาย เราทำความดีไว้มากมายในชีวิต ตายแล้วไปสู่สวรรค์ เมื่อเราลอยอยู่บนสวรรค์ สุขสบายอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิ์ในโลกไม่ถึง 1 ใน 16 ของความสุขในสวรรค์ เมื่อเรากำลังเสวยสุขอย่างยิ่งบนสวรรค์ มองมาดูลูกหลานบนโลกมนุษย์ อยากเห็นลูกหลานเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า

หากเห็นลูกหลานเป็นสุข วิญญาณก็สุขใจ หายห่วง แสงก็ผ่องใส เมื่อแสงผ่องใสก็ลอยไปสู่ภูมิสูง ศักดิ์ในสวรรค์ก็มาก อาจบอกลูกหลานว่า ดีแล้วลูกหลาน สมานสามัคคีกันนะ พากันเจริญมรดกโลก มรดกธรรมที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ เอาไปพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะ ลูกหลานที่ทำอย่างนี้ ชื่อว่าสนองคุณผู้ตายจริง

หากเห็นลูกหลานเป็นทุกข์ วิญญานก็จะอาดูรเล็กน้อย เมื่ออาดูรแสงสว่างก็จะหมองไปบ้าง เมื่อแสงจิตเศร้าหมอง ก็ไปภูมิสูงๆ ไม่ได้ ศักดิ์ก็น้อย จนอาจตัดพ้อว่า ลูกหลานเอ๋ย ตอนฉันอยู่ในโลก พวกเธอก็ทำตัวน่าสงสาร จนฉันต้องทำงานหนักเพื่อพวกเธอจนตาย ฉันตายแล้ว พวกเธอก็ยังทำตัวน่าสงสารกันอีก เมื่อไรจะโตกันเสียที ลุกขึ้นมา ทำจิตใจให้ดี สานต่อสิ่งดีๆ ที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ ช่วยกันสร้างประโยชน์สุขแก่ทุกฝ่ายให้ถึงพร้อม พากันเจริญนะลูกหลาน พ่อแม่จะได้ตายอย่างสบายหายห่วง และไปสูงส่ง 

นี่คือความเป็นจริง ที่คนจำนวนมากไม่ดู เพราะมัวดูแต่ความรู้สึกของตัวเอง
 

แล้วจะออกจากธรรมเนียมทุกข์ได้อย่างไร

ง่ายอย่างยิ่ง

แค่ตั้งจิตหวังดีต่อผู้ตายจริง ๆ

หากผู้ตายไปสวรรค์ ก็อนุโมทนายินดีกับท่านด้วยใจจริง ท่านได้ดีแล้วหนอ ท่านสุขสบายจริง ท่านผ่องใสอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าปลื้มปีติกับท่านเหลือเกิน บุญอันเล็กน้อยที่ข้าพเจ้ามี ข้าพเจ้าขออุทิศแด่ท่านด้วย เพื่อรัศมีของท่านจะได้ไพศาลยิ่งขึ้น อย่างนี้วิญญานชอบแน่นอน จิตผู้แผ่ก็ผ่องใส เป็นกรรมฐานเทวตานุสติไปในตัว

หากผู้ตายไปอบายก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้

หากไม่รู้ผู้ตายไปไหน ก็บอกให้มาหา มาส่งข่าว ว่าสุขสบายดีใหม ต้องการอะไรก็ให้บอก จะได้ทำบุญไปให้

หากติดต่อไม่ได้ ก็ทำบุญอุทิศให้ไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของอนุชนประการหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ คือ ทำบุญให้บรรพชนเนือง ๆ เป็นกตัญญูกตเวที
 
เมื่อตั้งใจทำเพื่อผู้ตายจริงๆ ใจจะไม่มีที่สำหรับความเศร้าสร้อยร่ำไรรำพัน หรือที่เก็บทุกข์เลย ตรงกันข้าม จิตจะเป็นสุขมากที่เราได้ช่วยผู้ตายให้ไปสู่ภูมิสูงๆ และสุขสบาย ผ่องใสได้

จิตไปสู่ภูมิใดนั้น สำคัญที่สุดสำหรับผู้ตาย เพราะอายุในมิติอื่นยาวนานกว่าโลกนี้มากนัก

ลูกหลานคนใด ที่ยังไม่มีโอกาสสนองคุณพ่อแม่ได้มากในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่นำจิตท่านสู่สุคติสุคโตได้ ก็ทดแทนคุณได้หมด และพ่อแม่ที่ไปสู่สุคติสุคโตแล้วนั่นแหละ จะตามดูแลลูกหลานนั้นอย่างดี
 

โดยสรุป

หากทำเพื่อความรู้สึกของตนเอง ก็จะเป็นทุกข์ และไว้ทุกข์

หากทำเพื่อความรู้สึกและประโยชน์สุขผู้ตาย ก็จะเว้นทุกข์ แต่สร้างความสุขแก่ผู้ตาย และผู้กำลังจะตาย คือ คนเป็นทั้งหลาย

เมื่อเห็นการเกิดการตายเป็นทุกข์ที่ไม่คุ้มค่า ไร้สาระ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ก็จะเจริญธรรม พากันหลุดพ้นจากตัณหาในภพชาติ ไปสู่ความอมตะ ไม่ต้องเกิด-ตายอีกต่อไป  จึงไม่มีการไว้ทุกข์ใด ๆ ในพุทธารยธรรม มีแต่การดับทุกข์ถาวร
 
แท้จริงแล้ว ไม่มีการจากใด ๆ ในจักรวาลทั้งปวง