การอยู่กับปัจจุบันกับการวางแผนเพื่ออนาคต
ที่ให้เราอยู่กับปัจจุบัน คิดอยู่กับปัจจุบัน แต่บางทีเราต้องคิดถึงอนาคตด้วย เช่น การวางแผนครอบครัว เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เราก็เศร้าหมอง เราควรจะอยู่กับตัวเองหรือควรจะคิดเผื่ออนาคตมากน้อยแค่ไหนคะ
คำถามนี้ดีมาก คือถ้าเราคิดเผื่ออนาคตตามหน้าที่จริง ๆ ก็ควรพิจารณา แต่ถ้าเราใช้ระบบความคิด มันไม่มีอะไรการันตีความตรงตามจริง
และอีกประการหนึ่ง เรามักจะฟุ้งซ่านไปกับจินตนาการในอนาคต เมื่อเรามาปฏิบัติธรรม เรามาฝึกอยู่กับปัจจุบันขณะโดยมาก
เราใช้ประโยชน์จากปัจจุบันขณะไปสู่อนาคตโดยไม่เสียขณะแห่งปัจจุบันได้หรือไม่
คำตอบคือได้ ทำอย่างไร คือเราจะต้องเอาจิตออกจากกาลเวลา อย่างที่เราฝึกกันเมื่อวาน ให้จิตหลุดออกมาจากกาลเวลาก่อน เพราะจิตเป็นอรูป จิตไม่ได้ต้องการรูป กาลเวลาเป็นเพียงหน่วยวัดระยะการเคลื่อนที่ของรูป จริง ๆ แล้วจิตไม่ต้องการรูป ตัณหาเป็นผู้ต้องการ จิตคืออะไร จิตคือรู้ เอารู้ออกมาจากรูปได้ จึงออกจากกาลเวลา เมื่อจิตออกมาจากกาลเวลานั้น จิตสามารถที่จะขยายจากฐานปัจจุบันไป cover อนาคตได้โดยธรรมชาติของมันเอง เพราะจิตมีธรรมชาติไร้ขอบเขต ในกรณีเช่นนี้เราไม่ต้องปรุงแต่งวาดหวังว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เราเพียงแค่ขยายจิตออกไปให้ cover กาลเวลาทั้งหมด มัน cover ได้เพราะมันเป็นอิสระจากกาลเวลา พอ cover แล้วเราจึงดูว่า อะไรคือความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดของชีวิตนี้ ก็ design ไปตามนั้น แล้วก็มาออกแบบ process คือมรรค ให้ตรงกับผลนั้น จึงได้อนาคตที่ควรที่ดี มีวิถีที่แม่นยำสู่อนาคตนั้น