ปรับสมดุลความคิดและความรู้สึกอย่างไร
สำหรับคนที่มีความคิดมาก ๆ ควรไหมที่จะปรับสมดุลด้วยการรู้สึก หรือควรที่จะให้รู้เป็นรู้ บริสุทธิ์ คือรู้ความรู้สึกแล้วก็รู้ความคิด คือไม่แน่ใจว่ามันจะดีหรือไม่สำหรับคนที่ใช้แต่ความคิด โดยให้ใช้ความรู้สึกบ้าง ส่วนคนที่ใช้ความรู้สึกก็ควรจะใช้ความคิดบ้าง
ถ้าอยู่ที่รู้บริสุทธิ์ได้เลย จะดีสำหรับคนที่ต้องการจะบรรลุธรรมแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังต้องอยู่กับโลกอยู่ การ balance จะดี เพราะว่าถ้าอยู่ด้วยความคิดอย่างเดียว เหตุผลอย่างเดียว มันจะแข็ง แล้วมันจะขาดความชุ่มฉ่ำแห่งใจ พอขาดความชุ่มฉ่ำแห่งใจ มันเข้าสมาธิใหญ่ไม่ได้ เข้าลึกได้ แต่มันไม่ใหญ่ สมาธิลึกกับสมาธิใหญ่จะไม่เหมือนกัน เข้าไปสงบ ลึก นิ่ง แต่มันไม่ใหญ่ คือ ใจมันไม่ใหญ่ อานุภาพมันน้อย ตัวความรู้สึกจะทำให้ใจใหญ่ได้ด้วย ถ้าใช้แต่ความรู้สึกแล้วไม่ใช้ความคิด โอกาสพลาดจะมีในเรื่องของการประเมินความคุ้มค่าและความไม่คุ้มค่า
ถ้าความคิดเชิงเหตุผลนำหน้าศรัทธา กว่าจะยอมเชื่อได้บางทีต้องยอมถลอกปอกเปิก ยอมเจ็บปวด เพราะอะไร เพราะว่าเหตุผลนั้นฟังดูดี แต่อย่างที่เราวิเคราะห์กัน เหตุผลของมนุษย์คิดไปได้ 10 ชั้นก็เก่งแล้ว แต่เหตุผลในธรรมชาติมันไม่มีที่สิ้นสุดเลย มันต่อเนื่องไปหาเหตุแห่งเหตุ ผลแห่งผล ไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้ที่สิ้นสุด ดังนั้นเหตุผลจริง ๆ มันไม่สิ้นสุด แต่เราคิดด้วยเหตุผลของมนุษย์มันมีข้อจำกัด และเราก็มักจะตั้งเกณฑ์ขึ้นมาเป็นหลักในการพิจารณาเหตุผล เกณฑ์ทางการเงิน เกณฑ์ทางกฎหมาย เกณฑ์ทางวัฒนธรรม เกณฑ์ทางการตลาด เกณฑ์นู่นนี่ เอาเกณฑ์เหล่านี้มาเป็นตัวตั้งของเหตุผลซึ่งมันอาจจะจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ ถ้าเกณฑ์นั้นพลาดมันก็พาเหตุผลพลาดไปทั้งระบบ ถึงไม่พลาด มันก็คับแคบ
ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราทำวิจัยกันในทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด เราหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวหรือสองกลุ่มเป็นหลัก โดยจะคุมให้เหลือแค่สองตัว คือหา cause และ effect หาตัวเหตุและตัวผลว่ามันมีปฏิกิริยากันอย่างไร มีระดับค่าความสัมพันธ์แค่ไหน แต่ถามว่าตัวแปรจริง ๆ ในชีวิต ในโลกแห่งความเป็นจริง มันมีแค่สองตัวมั้ย มันเป็นไปไม่ได้เลย แค่ทำธุรกิจอย่างเดียว ตัวแปรกี่ตัว นับไม่ถ้วนนะ การบริหารงานมีตัวแปรกี่ตัว นับไม่ถ้วนเหมือนกัน ชีวิตคู่มีตัวแปรกี่ตัว ยิ่งเยอะใหญ่เลยใช่หรือไม่
ดังนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง มันเป็นโลกแห่งความสลับซับซ้อน แต่ในการวิจัยหาเหตุผล เราพยายามควบคุมตัวแปรที่เหลือ คือ พยายามควบคุมหรือกำจัดออกไปให้มากที่สุด เพื่อหาค่าความสัมพันธ์ตัวแปรสองตัว แล้วพอหาได้ เรามาจัดเป็นระบบความรู้ เป็นระบบเหตุผล แล้วพอเราก่อความรู้ปั๊บ คิดว่ามันบอกว่าจะต้องเป็นอย่างนี้เพราะการวิจัยออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงตัวแปรมันเยอะกว่าที่เราวิจัยมา มันก็เลยเอาเหตุผลทางทฤษฎีการวิจัยมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ มันคลาดเคลื่อนจากปรากฏการณ์จริงแห่งความซับซ้อน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีปัญหาเสมอระหว่างนักทฤษฎีและนักปฏิบัติ ใครที่อยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ ทฤษฎีมาสวยหรูขนาดไหน พอลองเอาไปปฏิบัติ เจอปัญหา เจอตัวแปรสารพัด ต้องปรับแก้กันอีกมโหฬาร ดังนั้น การคิดเชิงเหตุผลนั้น มันดูดี แต่มันไม่ค่อยครอบคลุมความจริง ถ้าจะครอบคลุมความจริงด้วยปัญญา จะต้องหลุดออกจากเหตุผลแล้วใช้ญาณทัศนะ อันนี้จะหลุดออกมาจากเหตุผลอีกชั้นหนึ่ง ก็คือใช้จิตที่เหนือขอบเขตและกาลเวลา เหนือข้อมูล หลวงปู่ชาจึงบอกว่า จิตที่มันหลุดแล้ว มันนอกเหตุเหนือผล มันจะหลุดออกมาจากระบบเหตุผล
ทีนี้คนที่เคยชินกับการคิดเชิงเหตุผลอยู่แล้ว ทำอย่างไร เติมสุนทรียภาพเข้าไปบ้าง ทำให้ชีวิตมีชีวามากขึ้น ชีวิตจะไม่แห้งแล้ง จิตใจจะไม่ขาดอาหาร แต่ถ้าคนที่ความรู้สึกมันเยอะเกินไป ท่วมทับใจ เติมระบบเหตุผลเข้าไปบ้าง มันจะมีกรอบของความรู้มากำกับทิศทาง ความรู้สึกมันจะไม่วูบวาบเกินไป balance กันได้ดี