Main navigation

ความว่าง วิมุตติ จิต สุญญตา

Q ถาม :

อาจารย์คะ ดิฉันสงสัยว่าความว่าง วิมุตติ จิตจักรวาล อันเดียวกันไหมคะ อาจารย์ช่วยอธิบายจิตจักรวาลหรือว่าสุญญตาหน่อยค่ะ ขอบคุณค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ความว่าง

พระพุทธองค์ทรงเรียกความว่างว่า เป็นธาตุที่ไร้การปรุงแต่ง ไม่เกิด ไม่ดับ

ความว่างมีหลายสภาวะว่าง

ความว่างสัมบูรณ์ คือ พระนิพพานธาตุหรืออมตธาตุ ความว่างนี้จะพ้นคลื่นความถี่ของพลังงานทั้งหมดในจักรวาล beyond จักรวาล

ความว่างใหญ่ที่รองลงมาจากพระนิพพาน คือ ความว่างแห่งจักรวาลที่รองรับความมีทั้งหมดของกาแล็กซี ของดวงดาว นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าอวกาศ

ความว่างที่เราคุ้นเคย ก็คือช่องว่าง เช่น ห้องว่าง บ้านว่าง สนามว่าง ทำให้เกิด space ที่เราอาศัยอยู่ ที่เราอาศัยอยู่ทั้งหมด เราก็อาศัยอยู่ในความว่างทั้งสิ้น ถ้าในบ้านเต็มไปด้วยของ ในห้องนอนเต็มไปด้วยของ เราก็ไม่มีที่อยู่ ที่เราอยู่ได้เพราะมันมีที่ว่าง ออฟฟิศก็เช่นกัน ออฟฟิศว่าง เราจึงเข้าไปทำการงานได้ หากออฟฟิศไม่ว่าง ก็เข้าไปใช้ไม่ได้ แต่ความว่างแบบนี้มีอากาศอยู่

ความว่างภายใน คือ จิตว่าง จิตว่างคือธาตุรู้ล้วน ๆ ที่ปราศจากการปรุงแต่ง ไม่เกิด ไม่ดับ เพราะจิตว่าง จิตจึงทำกิจได้มากมาย เวลาจิตไม่ว่าง ใครมาชวนทำอะไร มักจะบอกว่า “ไม่ว่าง” ไม่ว่างนั้นคือจิตไม่ว่างพอที่จะรับภาระใด ๆ อีก

นั่นคือความว่าง 

ทั้งชีวิต จิตใจ ร่างกายล้วนต้องการความว่างเป็นสำคัญเพื่ออยู่และทำกิจต่าง ๆ ตรงข้ามกับตัณหาที่ต้องการความมีมาก ๆ จนวุ่น
 

วิมุตติ

วิมุตติ คือสภาพที่พ้นสมมุติ วิมุตติก็มี ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ

๑. เจโตวิมุตติ การพ้นสมมุติด้วยใจอันไร้ขอบเขต

๒. ปัญญาวิมุตติ การพ้นสมมุติด้วยปัญญาอันไร้ขอบเขต

๓. อุภโตภาควิมุตติ การพ้นสมมุติด้วยอานุภาพทางใจที่ไร้ขอบเขต และปัญญาที่ไร้ขอบเขต

สมมุติคืออะไร

สมมุติชุดแรก เป็นสมมุติที่บัญญัติ นิยาม ก่อตั้ง สิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นมา เช่น ระบบการปกครอง ระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบปริญญา ระบบสงคราม ระบบเกียรติยศ และระบบทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนเป็นสมมุติ

สมมุติชุดที่สอง คือสมมุติแห่งการยึดถือ เช่น ที่ดินในโลกไม่ได้เป็นของใครเลย แต่เราไปแบ่งปันกันแล้วครอบครอง พอครอบครองเราก็ยึดถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น การยึดถือนั้นเป็นสมมุติ หรือร่างกายนี้เป็นของธาตุในโลก สร้างมาจากอาหาร น้ำ อากาศ อุณหภูมิ ถ้าเรายึดถือว่าเป็นของเรา ก็เป็นสมมุติชุดที่สอง เป็นสมมุติแห่งการยึดถือ

เมื่อหลุดจากสมมุติเหล่านี้ได้ ก็ถึงวิมุตติ
 

จิตจักรวาล

จิตจักรวาลที่เป็นหนึ่งเดียว ครองจักรวาลทั้งหมด ไม่มี แต่มีจิตใหญ่ระดับจักรวาลที่แผ่จิตไปได้ทั่วทั้งจักรวาล จิตนี้มี และมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็คือพรหมทุกท่าน จิตท่านใหญ่ระดับจักรวาล ท่านอยู่ในฌานสมาบัติกันทุกท่าน ชำนาญในอัปปมัญญา เวลาท่านแผ่จิตทีก็ครอบจักรวาล แต่ไม่ได้ครองจักรวาล

ที่เข้าใจว่ามีจิตจักรวาลหนึ่งเดียวนั้นมาจากประสบการณ์ของคนที่ปฏิบัติมาพอประมาณ แต่ยังไม่สุดสัจจะดี ไปเห็นจิตของพรหมที่กำลังแผ่ ใหญ่ไปทั่วจักรวาล ก็เข้าใจว่าเป็นจิตจักรวาล เป็นผู้ครองจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวในจักรวาล จิตทั้งหมดล้วนเป็นจิตเล็กที่แตกมาจากจิตใหญ่นี้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สัจจะ

เมื่อเราปฏิบัติไปจนสุดสัจจะ เราก็จะพบว่าจิตใหญ่แบบนั้นมีเป็นจำนวนมาก พรหมทุกท่านทำได้ แต่ท่านไม่ได้ทำกันอยู่ตลอดเวลา เพราะส่วนใหญ่ท่านจะอยู่ในความสงบ เมื่อใดที่ท่านแผ่จิตที แสงก็ไปทั่วจักรวาลอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร ธรรมดาสำหรับท่านนะ แต่อาจจะพิเศษสำหรับมนุษย์ เพราะการเห็นเพียงบางส่วน บางเวลา ก็เลยไปสรุปผิดว่าเป็นจิตจักรวาลที่ครองจักรวาล

ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือน ถ้ามนุษย์ต่างดาวมายังโลกนี้ ตอนลอยอยู่ในอวกาศเห็นโลก ส่วนที่สวยที่สุดในโลกก็คือ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เพราะจะมีแสงออโรร่าระยิบระยับอยู่ ก็เข้าใจว่านั่นคือส่วนที่เจริญที่สุดในโลก ก็ไปจอดยานที่นั่น ถ้าจอดยานที่ขั้วโลกเหนือก็เจอแต่หมีขาว และก็ไม่ได้เจอบ่อย เพราะมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเจอหมีขาวตัวนึงตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ย งุ่มง่าม มนุษย์ต่างดาวนั้นก็อาจจะสรุปว่า โอ้ โลกนี้กันดาร เต็มไปด้วยน้ำแข็ง มีชีวิตเดียวครองโลกอยู่ ท่าทางเซื่องซึม เงอะงะ ไม่ใส่ใจใยดีต้อนรับเราเลย โลกนี้ไม่น่าสนใจ นั่นเพราะการเห็นส่วนเดียว และสรุปว่าทั้งโลกเป็นเช่นนี้ หรือสิ่งที่ตนเห็นนั้นครองโลกอยู่ ซึ่งเป็นการสรุปที่ผิด เช่นเดียวกับคนที่คิดว่ามีจิตจักรวาล เป็นการปฏิบัติมาได้กลางทางแล้ว มีประสบการณ์ทางจิตพอประมาณ แต่ยังไม่สุดสัจจะจึงสรุปผิดไป

ดังนั้น ก็ปฏิบัติให้สุดสัจจะก่อน ก็จะแจ่มแจ้งเอง
 

สุญญตา

สุญญตา คือคุณสมบัติที่แท้จริงของสิ่งทั้งปวง ทั้งความปรากฏและความว่าง

อัตตาเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติธาตุแท้ สัตว์จะรู้สึกว่าเป็นอัตตา มีอัตตา เพียงเพราะการยึดถือ เช่น บ้างก็ยึดถือร่างกายเป็นตน หรือของตน บ้างก็ยึดถือความรู้สึกว่าเป็นตน หรือของตน บ้างก็ยึดถือความทรงจำ ความรู้ว่าเป็นตน เป็นของตน บ้างก็ยึดถือเจตนาว่าเป็นตน เป็นของตน บ้างก็ยึดถือรู้ การรับรู้ได้เป็นตน เป็นของตน

เพราะยึดถือจึงรู้สึกเป็นอัตตา ยึดถืออย่างไรจริงจังแค่ไหน ร่างกาย เวทนา ความทรงจำ เจตนา และวิญญาณธาตุ เขาก็ไม่เป็นอัตตาให้ เขาก็เกิดดับ เกิดดับไปเรื่อย เมื่อไม่ยึดถืออะไรเลย เห็นว่าสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นเป็นธรรมชาติ เกิดดับ ๆ ตามปฏิสัมพันธ์ อัตตาก็ไม่มี เพราะโดยความเป็นจริงมันไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ใครฝืนความเป็นจริง พยายามจะปั้นความรู้สึกอัตตาขึ้นมาให้จงได้ ความรู้สึกนั้นถูกสร้างแล้วก็รู้สึกจริง แต่อัตตาที่แท้จริงก็ไม่มีอยู่ดี เพราะเดี๋ยวสิ่งที่ยึดถือทั้งหมดก็ดับไป การยึดถือก็ต้องเปลี่ยนไป หรือสลายไป ก็ต้องผิดหวังเจ็บปวด

เปรียบเหมือน ลมมีอยู่ในธรรมชาติ ใครเอาอะไรไปตีลม ลมก็ไม่สะทกสะท้านสะเทือน แต่หากใครเอาลมใส่ลูกโป่ง แล้วบอกว่าลูกโป่งเป็นตนเป็นฉัน ฉันคือลูกโป่งนี้ เธอคือลูกโป่งนั้น ไม่ว่าลูกโป่งเล็ก หรือลูกโป่งใหญ่ ครั้นโดนหนามตำนิดเดียว ก็สะดุ้งเจ็บปวด แตกระเบิด อัตตาที่ปั้นมาทั้งหมดก็เหมือนลูกโป่งเป่าลม รอวันแฟบหรือแตกนั่นเอง

ผู้ใดเปิดปัญญายอมรับความเป็นจริงได้ว่าไม่มีอัตตาที่แท้จริงในธรรมชาติทั้งปวง ก็จะถึงสุญญตา ว่าง สบาย สุญญตา คือภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งปวงในธรรมชาติ ในจักรวาล ในชีวิตจิตใจ เมื่อไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลก ในธรรมชาติ แม้กระทั่งในขันธ์ห้า ก็เข้าถึงสุญญตา สภาพที่แท้จริงของทุกสิ่ง

 

โดยสรุป

ความว่าง วิมุตติ จิตระดับจักรวาล สุญญตา ไม่เหมือนกัน เป็นคนละอย่างกัน

ความว่าง เป็นธาตุไร้การปรุงแต่ง ไม่เกิด ไม่ดับ

จิต เป็นธาตุรู้ จิตระดับจักรวาล คือจิตรู้ระดับจักรวาล

สุญญตา เป็นภาวะที่แท้จริงของทุกสิ่ง จิตบริสุทธิ์ที่ไร้การยึดถือ ก็จะไม่สมมุติอัตตาขึ้นมา

วิมุตติ คือการออกจากสมมุติแห่งการยึดถือได้ สู่ความเป็นจริงแท้ จึงแจ่มแจ้งสัจธรรม เมื่อวิมุตติถาวรแน่นอน เรียกว่าบรรลุธรรม หรือบรรลุความเป็นจริงแท้ เมื่อบรรลุอมตธาตุ นั่นคือความเป็นจริงแท้แห่งความว่างสัมบูรณ์ ก็ถึงพระนิพพาน

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

ความว่าง วิมุตติ จิต สุญญตา