Main navigation

เกณฑ์แห่งสัมมาธรรม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ขา แม่ ๆ แก่แล้ว ไม่อยากแสวงหาลองผิดลองถูกอีกแล้ว ถ้าเราจะเดินตามสัมมาธรรมให้สมบูรณ์ ท่านอาจารย์พอจะกรุณาให้เกณฑ์สัมมาธรรมชัด ๆ ให้พวกเรานำมาเป็นคู่มือปฏิบัติเลยได้ไหมคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

อาจยาวหน่อยนะครับ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปฏิบัติการหลักของวิวัฒนาการ และเป็นกระบวนการสำคัญในการบรรลุธรรม ยกภูมิให้สูงขึ้น ค่อย ๆ อ่านไปวันละน้อยก็ได้ ตรงไหนไม่เข้าใจ ก็ให้ลูก ๆ อธิบายให้ฟัง อย่าศึกษาแค่ให้เข้าใจและจำได้ เพราะความจำไม่เที่ยง จะไม่มีผลต่อชีวิตจิตใจ ดังนั้น ตรงไหนเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติทันทีด้วยการยกระดับมาตรฐานจิต ความเห็น การพูดจา การกระทำ อาชีพการงาน ความเพียร สติ สมาธิ ญาณ วิมุตติ สู่สัมมาธรรม เมื่อเข้าสู่มาตรฐานสัมมาธรรมแน่นอนแล้ว ผลก็เกิดขึ้นทันที ภูมิก็สูงขึ้นทันที ทำได้มาก ก็ปิดอบาย ทำได้หมด ก็หลุดพ้นเลย


หลักการแห่งสัมมาธรรม  คือ

เห็นความจริงตรงตามความเป็นจริง เห็นความไม่จริงโดยเป็นความไม่จริง

เห็นคุณโดยความเป็นคุณ เห็นโทษโดยความเป็นโทษ

เห็นความเป็นไปได้โดยความเป็นไปได้ เห็นความเป็นไปไม่ได้โดยความเป็นไปไม่ได้

เห็นปัจจัยแห่งความสำเร็จโดยความเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ เห็นปัจจัยแห่งความล้มเหลวโดยความเป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลว

เห็นกระบวนการสู่ความเจริญโดยความเป็นกระบวนการสู่ความเจริญ เห็นกระบวนการสู่ความเสื่อมโดยความเป็นกระบวนการสู่ความเสื่อม

เห็นแก่นสารโดยความเป็นแก่นสาร เห็นความไม่มีแก่นสารโดยความไม่มีแก่นสาร

เห็นสุขโดยความเป็นสุข เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์

เห็นอริยสัจโดยความเป็นอริยสัจ เห็นความอมตะโดยเป็นความอมตะ

เป็นต้น

นี่คือหลักการ


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๑ : สัจจะ - อสัจจะ

1. เห็นความจริงแท้ โดยความเป็นจริงแท้

สิ่งใดอมตะ ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นคือความจริงแท้

สิ่งใดไม่อมตะ มีการเปลี่ยนแปลง แปรปรวนไป สิ่งนั้นไม่ใช่ความจริงแท้

2. เห็นความจริงธรรมชาติ โดยความเป็นจริงธรรมชาติ

ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คือ รูป จิต เจตสิก นิพพาน

สิ่งที่ไม่ใช่ รูป จิต เจตสิก นิพพาน ไม่ใช่ความจริงธรรมชาติ

3. เห็นความจริงเทียม โดยความเป็นจริงเทียม

สมมติในโลกและจักรวาลทั้งหมด คือความจริงเทียม

4. เห็นความเท็จ โดยเป็นความเท็จ

การปรุงแต่งเพ้อเจ้อไปไม่ตรงจริง เป็นความเท็จ

การคิดพล่านฟุ้งซ่านไปไม่ตรงจริง เป็นความเท็จ

การสร้างความกลัวหวาดผวาไปไม่ตรงจริง เป็นความเท็จ

ความอยากปรุงความหวังไปไม่ตรงจริง เป็นความเท็จ

ความไม่อยากปรุงการบั่นทอนไปไม่ตรงจริง เป็นความเท็จ

อุปาทาน พยายามยึดถือสิ่งที่แปรปรวนไปตลอดเวลา เป็นความเท็จ

ความเชื่อที่ไม่ตรงความเป็นจริง เป็นความเท็จ

อัตตา เป็นความเท็จ

เป็นต้น


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๒ :  คุณ - โทษ

1. ความบริสุทธิ์ อมตะ คือคุณอันยอด

2. ปรมัตถปารมี คือคุณอันยั่งยืน

3. คุณวิเศษ คือคุณอันยิ่ง

4. กุศลทั้งหมด คือคุณ

5. ความสุข คือคุณ

6. ความทุกข์ คือโทษ

7. อกุศลทั้งหมด คือโทษ

8. ครุบาปกรรมทั้งหมด คือโทษอันยิ่ง

9. กิเลสทั้งหมด คืออาณาจักรโทษอันยั้วเยี้ย

10. อวิชชา คือยอดแห่งโทษทั้งปวง

11. ความประมาท คือที่รวมแห่งโทษทั้งปวง


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๓ : ความเป็นไปได้ - ความเป็นไปไม่ได้

1. สัพเพสังขารา อนิจจาติ - สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง 

การพยายามทำสังขารการปรุงประกอบทั้งปวงให้เที่ยง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

การพยายามทำสังขารทั้งปวง คือ ควอนตัม แรง อนุภาค อะตอม โมเลกุล ธาตุ สารประกอบ DNA, genes, cells เนื้อเยื่อ อวัยวะ สรีระ ความแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บ ความสัมพันธ์ สังคม โลก ธรรมชาติ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ กาแล็กซี ให้ไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

2. สัพเพสังขารา ทุกขาติ - สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

การพยายามทำสังขารการปรุงประกอบทั้งปวงให้เป็นสุขถาวร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาจได้แค่สุขชั่วคราว ในที่สุดก็ต้องจบด้วยทุกข์อยู่ดี

การหวังว่าสังขารการปรุงประกอบทั้งปวงให้เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

3. สัพเพธัมมา อนัตตาติ - สิ่งทั้งปวงไม่เป็นตน

การพยายามปั้นอนัตตาให้เป็นตน​​​ลักษณะต่าง ๆ ขนาดต่าง ๆ ฐานะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาจได้แค่การปั้นแต่งลม ๆ แล้ง ๆ แล้วก็ต้องสลายหายวับไป

การยอมรับว่าขันธ์ห้า ฐานะ ตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ ไม่เป็นตน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ทันทีที่ยอมรับเช่นนั้น

เป็นต้น


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๔ : ความสำเร็จ - ความล้มเหลว

1. ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ความไม่ยินดี ความไม่พากเพียร ความไม่ใส่ใจ ความไม่ขวนขวายพัฒนา เป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลว

2. สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ขาดพลังสัทธา ขาดพลังความเพียร ขาดพลังสติ ขาดพลังสมาธิ ขาดพลังปัญญา เป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลว

3. การประกอบถูกส่วน เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

การประกอบผิดส่วน เป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลว

4. สัมมาธรรมทั้งหมด เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

มิจฉาธรรมทั้งหมด เป็นปัจจัยแห่งความล้มเหลว


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๕ : ความเจริญ - ความเสื่อม

1. โลภะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม คือ นำสู่ความสูญเสีย และความอดอยาก

โทสะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม คือ นำสู่การต่อสู้ และสงครามทำลายล้าง

โมหะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม คือ นำสู่การดำนินชีวิตผิด และโรคภัยนานา

กลไกทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสู่ความเสื่อม

2. อวิชชาเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ปรุงกิเลสนานา คือ ความฟุ้งซ่าน มานะ ถือตัวว่าฉันดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำต้อยกว่าเขา ความยึดถือมัวเมาในอรูป ความยึดถือมัวเมาในรูป ความยึดถือมัวเมาในกาม ความกระทบกระทั่ง หงุดหงิด ความสงสัยลังเล ความประมาทในศีล และการยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตน กลไกทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสู่ความเสื่อม

3. การละชั่ว (อวิชชา โมหะ โทสะ โลภะ) ประพฤติชอบ ชำระจิตให้ใสรอบ เป็นกระบวนการสู่ความเจริญ

4. ความเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ความเพียรป้องกันบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ความเพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ความเพียรรักษาพัฒนากุศลที่เกิดแล้วให้เจริญงอกงาม เป็นกระบวนการสู่ความเจริญ

5. ทาน ศีล ภาวนา การขวนขวายในกิจส่วนรวม ความเคารพให้เกียรติอ่อนน้อมซึ่งกันและกัน การฟังสัจธรรม การแสดงแบ่งปันเผยแผ่สัจธรรม การอุทิศบุญที่ทำแล้ว การอนุโมทนายินดีในบุญ การปรับปัญญาให้ตรงสัจจะ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสู่ความเจริญ

6. การอุทิศชีวิตเพื่อเจริญทานอันควร ศีลอันหมดจด การสละกามอันเลอะเทอะเมามัว ปัญญาอันเที่ยงตรง ขันติอย่างปล่อยวาง วิริยะสายกลาง สัจจะอันพอเหมาะพอดี อธิษฐานอันมั่นคงเด็ดเดี่ยว เมตตาสากล อุเบกขาสงบสนิท ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสู่ความเจริญ

7. สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เป็นกระบวนการสู่ความเจริญ


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๖ : มีแก่นสาร - ไร้แก่นสาร

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไร้แก่นสาร
นิพพาน คือแก่นสาร

ความคิดปรุงแต่ง ไร้แก่นสาร
ปัญญาญาณ คือแก่นสาร

โลก ดวงดาว จักรวาล สสาร พลังงาน ไร้แก่นสาร
อมตธาตุ คือแก่นสาร

ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ ไร้แก่นสาร
สุขที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ไร้แก่นสาร
สุขบริสุทธิ์ ที่ไม่มีปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่งได้ คือแก่นสาร

ความอยากดี ความหวังดี ไร้แก่นสาร
ศีล สมาธิ อัปปมัญญา ปัญญา วิมุตติ คือแก่นสาร

สิ่งใดไม่บริสุทธิ์ ไม่เที่ยง ไม่อมตะ สิ่งนั้นไร้แก่นสาร
สิ่งใดบริสุทธิ์ อมตะ สิ่งนั้นคือแก่นสาร

เป็นต้น


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๗ : สุข - ทุกข์

1. อวิชชาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ปรุงทุกข์นานา คือ

สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ ความแห้งใจ

2. กิเลสทั้งหลายเป็นทั้งเหตุแห่งทุกข์และอาการแห่งทุกข์ คือ

อภิชฌาวิสมโลภะ ความเพ่งเล็งอยากได้ ละโมบ มุ่งจะเอาให้ได้

ความโกรธ จิตใจพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อสิ่งที่พบไม่ลงตัวกับความปรารถนา

ความผูกเจ็บใจ เก็บความโกรธไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย

ความพยาบาท อารมณ์เจ็บแค้น หมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ 

ความลบหลู่บุญคุณ อกตัญญู  

การตีเสมอ พยายามดิ้นรนที่จะมี จะเป็น จะได้รับการยอมรับเหมือนกับคนอื่น

ความริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า

ความตระหนี่หวงแหน ในกิจที่ควรให้ก็ไม่ให้ ในกาลที่ต้องสละก็ไม่ยอมสละ

ความเจ้าเล่ห์มายา แสร้งทำเป็นคนดีทั้ง ๆ ที่ไม่ดีจริง อำพรางความจริงเพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิด 

ความโอ้อวด พยายามอวดฐานะด้วยสิ่งของ พยายามอวดดีด้วยการให้ที่ไม่เหมาะสม โม้เกินความจริง

ความหัวดื้อถือรั้น จิตใจกระด้าง ไม่ยอมรับฟัง ไม่รับความช่วยเหลือจากใคร ต่อต้านปฏิเสธแม้ในสิ่งที่มีประโยชน์

ความแข่งดี แก่งแย่งชิงดี ยื้อแย่งเอามาโดยไม่ชอบธรรม 

มานะ ความถือตัวว่าฉันสูงกว่าเขา ฉันเสมอเขา ฉันต่ำกว่าเขา พยายามปั้นตัวตนให้ใหญ่ พยายามบีบตัวตนให้เล็ก พยายามเทียบตัวตนให้เสมอคนอื่น

ความดูหมิ่น เหยียดหยามตัวเอง ดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น

ความมัวเมา เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง เมาในวัยหนุ่มสาว เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค เมาในชีวิต และเมาในทรัพย์

ความประมาท เลินเล่อ ขาดสติกำกับ ขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ประเมินผลที่ตามมา ไม่สนใจดีชั่ว ทำตามอำเภอใจตนเท่านั้น

เหล่านี้คือเหตุและอาการแห่งทุกข์

3. การอยู่กับสิ่งที่ลงตัวกันโดยธาตุโดยธรรม เป็นความสุข

4. สมถะ วิปัสสนา วิราคะ เป็นทั้งกลไกแห่งความสุขและสุขลึกซึ้งโดยสภาวะเอง

5. การที่จิตตั้งมั่นอยู่กับจิตโดยไม่ปรุงอะไรเลย เป็นสุขโดยสภาวะ (ไม่ใช่สุขเวทนาไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นใดทำให้สุข)

6. ความบริสุทธิ์แห่งพระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง


เกณฑ์สัมมาธรรมชุด ๘ : อริยสัจ - ความอมตะ

1. ทุกขอริยสัจ

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ธรรมชาติ

อวิชชาปรุงแต่งสังขาร คิดฟุ้งซ่านไปสร้างอารมณ์ต่าง ๆ เป็นทุกข์ปรุงแต่ง

อัตตาตัวตนเป็นตัวเสพทุกข์ สะสมทุกข์ แพร่ระบาดทุกข์

ระบบต่าง ๆ เป็นทุกข์เพราะสมมติ

2. สมุทัยอริยสัจ  

อวิชชา คือสมุทัย

ตัณหา คือสมุทัย

3. นิโรธอริยสัจ  

การดับอวิชชาและตัณหาขาดสูญ คือนิโรธ

นิโรธมีรสบรมสุข ในบรมว่าง

4. มรรคอริยสัจ  

การจะดับสมุทัย เข้าสู่นิโรธได้บริบูรณ์ ต้องดำเนินตามกระบวนการแห่งอริยมรรค คือ

สัมมาทิฎฐิ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค"

สัมมาสังกัปปะ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค คือ ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค"

สัมมาวาจา พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค คือความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔ (พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย เพ้อเจ้อ) ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค"

สัมมากัมมันตะ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค คือ ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ (ฆ่าหรือทำร้ายชีวิตอื่น ลัก ฉกฉ้อ กรรโชก ข่มขู่เพื่อทรัพย์ของผู้อื่น ประพฤติผิดในกาม) ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่"

สัมมาอาชีวะ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ (การโกง  การล่อลวง การตลบตะแลง การมอบตนไปในทางผิด) ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่"

สัมมาวายามะ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คือ "ความเพียรชอบให้เกิดฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้

๑. เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น 
๒. เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว 
๓. เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด บังเกิดขึ้น 
๔. เพื่อความตั้งอยู่ ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว"

สัมมาสติ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "คือ ความรำลึกชอบ

๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้  

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ 

๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้"

สัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า "คือ ความมีใจตั้งมั่นชอบ ลอกสังขารออก จนจิตหมดจดโดยลำดับ คือ

๑. สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ 

๒. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่   

๓. มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข  

๔. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่"


5. ผลคือสัมมาญาณะ สรุปจากคำสอนของพระพุทธองค์ได้ว่า คือ การเห็นสัจจะด้วยแสงจิตโดยตรง (ญาณ) โดยปราศจากความคิด ความคาดหวัง อารมณ์ปรุงแต่งใด ๆ โดยสิ้นเชิง เป็นปัญญาชั้นสูง เที่ยงตรง แจ่มแจ้ง ไร้ข้อกังขา ที่สมาธิจิตเท่านั้นพึงเข้าถึงได้ สัมมาญาณะมี ๗๓ ญาณ ดูได้ในญาณนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค ลองดูตัวอย่างที่ชนทั่วไปคุ้นเคยกันพอควร เช่น 

วิปัสสนาญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า กายนี้ไม่เป็นตน กายใด ๆ ก็ไม่เป็นตนของใคร

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า ชีวิตนี้มีวิวัฒนาการมาอย่างไร ตั้งแต่อดีตชาตินานไกล 

จุตูปปาตญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า กรรมที่บุคคลทำแล้วกำกับความเป็นไปของชีวิตเขา

อนาคตังสญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า อนาคตจิตนี้จะพัฒนาไปได้ถึงไหน จักสำเร็จอะไรได้เมื่อใดบ้าง 

ยถากัมมุตาญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งทั้งปวงไม่เป็นตน

อาสวักขยญาณ เห็นแจ้งด้วยแสงจิต (ไม่ใช่คิด) ว่า กามมาสวะในสันดานเป็นสิ่งควรดับ และดับได้แล้วด้วยวิราคะ ทิฏฐาสวะในสันดานเป็นสิ่งควรดับ และดับได้แล้วด้วยวิราคะ ภวาสวะในสันดานเป็นสิ่งควรดับ และดับได้แล้วด้วยวิราคะ อวิชชาสวะในจิตเป็นสิ่งควรดับ และดับได้แล้วด้วยวิราคะ เป็นต้น

6. ผลคือสัมมาวิมุตติ สรุปจากคำสอนของพระพุทธองค์ได้ว่า จะปรากฏ

วิมุตติญาณ เห็นแจ่มแจ้งด้วยแสงธรรม (ไม่ใช่จินตนาการ) ว่า กิเลสปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวงสิ้นสลายแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ถึงสภาวะใหม่ที่ไม่เคบพบมาก่อน คือ "พุทธะ รู้ ตื่น เบิกบาน อย่างบริสุทธิ์"

วิมุตติญาณทัสสนะ แจ่มแจ้งด้วยพุทธะ เห็นสัจจะแจ่มแจ้ง กว้างไกล ปรากฏปัญญาญาณใหม่ในสิ่งทั้งปวงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีวิสัยทัศน์ใหม่ที่ทะลุทะลวงสรรพสิ่งเหนือโลกเหนือจักรวาลด้วยญาณบริสุทธิ์ อย่างไม่อาจหวนกลับไปสู่ความเข้าใจแบบเดิมที่มีอวิชชาปนเปื้อนได้อีก วิมุตติญาณทัสสนะเป็นปัญญาญาณชั้นสูงสุดที่บุคคลพึงได้

การจะเข้าถึงวิมุตติได้ มีสามทางหลัก คือ

1. เจโตวิมุตติ โดยการเจริญอัปปมัญญาเจโตวิมุตติ แล้วปล่อยวางแม้อุเบกขาอันประณีต สงบ สู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์

2. ปัญญาวิมุตติ เข้าฌาน ๑ ถึง ฌาน ๗ ในฌานใดก็ได้ วิปัสสนาเห็นปัจจัยปรุงแต่งจิต แล้วดับปัจจัยเหล่านั้นให้ขาดสูญ ก็บรรลุธรรมได้

3. อุภโตภาควิมุตติ ทั้งเจริญเจโตวิมุตติด้วยและปัญญาวิมุตติด้วย ก็จะได้วิมุตติบริบูรณ์ พร้อมคุณวิเศษใหญ่

7. ผลคือความอมตะ

อีกสิ่งหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงค้นพบคืออมตธาตุ ท่านพระสารีบุตรก็สอนท่านพระอนุรุทธให้ดับมานะและอุทธัจจะ แล้วน้อมสู่อมตธาตุ ท่านพระอนุรุทธก็สำเร็จอรหันต์เลย

อมตธาตุ คือ ธาตุที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คงอยู่อย่างนั้นเองตลอดกาล มีธรรมชาติบริสุทธิ์สัมบูรณ์ ว่าง โปร่งใส 

อมตธาตุไม่ใช่รูปธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ โมเลกุล อะตอม ควาร์ก ควอนตัม nutrino หรือ hig boson)

อมตธาตุไม่ใช่อรูปธาตุ (อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ) 

ด้วยเหตุที่อมตธาตุมีความอมตะ ผู้อยู่ในอมตธาตุจึงไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ผู้ที่จะเข้าอมตะได้ ต้องนิพพาน (ดับกิเลสสูญ) ปราศจากตัณหา อวิชชาโดยสิ้นเชิง  

พระผู้มีพระภาคจึงทรงพาคนเจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ สัมโพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ เพื่อให้จิตมีปัญญาญาณเห็นอวิชชาและตัณหา พร้อมมีกำลังที่จะดับได้สำเร็จสิ้นเชื้อถาวร

อมตภาพ ที่พรหม เทวดา มนุษย์ จิตใจทั้งหลายแสวงหากันมานานแสนนานก็ถูกพบ และพาเข้าถึงโดยพระผู้มีพระภาคและเหล่าพระอรหันต์นี่เอง

8. ผลคือบรมว่าง บรมสุข

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "นิพพานัง ปรมัง สุญญัง  นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานว่างอย่างยิ่ง พระนิพพานสุขอย่างยิ่ง" พุทธชนตัวจริงย่อมศรัทธาในคำสอนพระพุทธเจ้า โดยไม่อวดเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ไม่ตีความไปตามอวิชชาสวะและทิฏฐาสวะของตน  

พุทธชนแท้ย่อมตั้งหน้าตั้งตา ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ตามพุทธวิธีจนกว่าจะเข้าถึงนิพพาน

ว่างอย่างยิ่ง แค่เข้าความสงบแท้ในฌานสี่ก็สงัดว่างมากแล้ว ครั้นเข้าอรูปฌาน ยิ่งว่างเวิ้งว้างไร้ขอบเขตยิ่งกว่า กระนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวางแม้ว่างทั้งสองนั้น เข้าอมตธาตุแห่งนิพพานอันว่างสัมบูรณ์ (Absolute ว่าง) กว่าสองสภาวะนั้นอีก ต้องเข้าถึงด้วยตนเองจึงจะเข้าใจ จะเข้าถึงได้ ต้องไม่ตีความ ไม่มีความคิดเห็นใด ๆ เข้าด้วยรู้บริสุทธิ์ตรง ๆ โดยปราศจากการปรุงแต่งใด ๆ

สุขอย่างยิ่ง แค่มีสุขเวทนาที่อิงอาศัยปัจจัยภายนอกมนุษย์ก็ปลาบปลื้มดีใจกันแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวางสุขลักษณะทาสเช่นนั้นเสีย พอได้สุขเวทนาที่ไม่อาศัยปัจจัยภายนอก มนุษย์ก็อิ่มเอมอิ่มอกอิ่มใจกันแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวางสุขปรุงประกอบนั้นเสีย ทรงให้เข้าสู่สุขสภาวะแห่งจิตที่เหนือสุขเวทนา จึงได้ฌานสี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า ซึ่งสุขจริงและมหาศาลกว่าสุขเวทนาอย่างไม่อาจเทียบได้ กระนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวางสุขแม้ประณีตนั้นเสีย สลัดคืนแม้การประกอบเล็กน้อยที่ประณีตอย่างยิ่ง น้อมสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ ปราศจากการปรุงประกอบใด ๆ โดยสิ้นเชิง ใครเข้าถึงแล้ว จึงจะรู้จัก "บรมสุข" หรือ "สุขบริสุทธิ์"  ใครยังไม่ถึงก็ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ อย่าให้อวิชชาปรุงแต่ง อย่าให้มานะอวดเก่ง อย่าให้ทิฏฐิตีความหลอกล่อตนให้หลงทิศ จะผิดทาง และไม่อาจถึงเป้าหมายเหมือนท่านที่ปฏิบัติกันจริงจัง


สรุป

หากมีปัญญารู้เห็นตรงตามสัจจะอย่างนี้ 

หากปฏิบัติเพื่อละสิ่งที่ไม่จริง สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่พาเสื่อม สิ่งที่พาทุกข์ สิ่งที่เป็นเหตุเป็นกลไกเป็นอาการแห่งทุกข์ทั้งหมดอย่างนี้  

หากปฏิบัติเพื่อเจริญสัจจะจริงในสิ่งที่เป็นไปได้ สิ่งที่พาสุข พาเข้าถึงความบริสุทธิ์ อมตะจริงอย่างนี้

เหล่านี้คือสัมมาธรรม

หากทำตรงข้ามกับสัมมาธรรม เป็นมิจฉาธรรม