Main navigation

เป็นทุกข์เพราะตนหรือคนอื่น

Q ถาม :

มีน้องที่ทำงานฝากถามค่ะ หากไม่บังควรขอประทานโทษด้วยนะคะ คือเขาถามมาว่า แต่ก่อนเป็นคนที่เห็นความผิดคนอื่นมาก เวลาเป็นทุกข์ก็หาเหตุผลโทษคนอื่นได้หมด โทสะเกิดบ่อย และไม่ค่อยมีใครอยากคุยด้วย

ตอนหลังเจ้านายสอนว่าเราเองต่างหากที่สร้างทุกข์ให้แก่ตัวเอง เขาก็พยายามพิจารณาตามนั้น ก็พยายามไม่โทษคนอื่น แต่โทษตัวเองแทน แต่ก็กลายเป็นเบื่อหน่ายตัวเอง ตอนนี้เลยเป็นคนขาดความเชื่อมั่น จนหดหู่ซึมเศร้า พาไปหาหมอ หมอให้ยามากินปีกว่าแล้วก็ยังไม่หาย ไม่ทราบว่าอาจารย์มีคำแนะนำไหมคะ ขอความเมตตาด้วยค่ะ สงสารน้องเขามาก

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

1. เมื่อคิดแล้วเป็นทุกข์ ก็หยุดคิด หยุดคิด ก็หยุดทุกข์

2. หากหยุดคิดไม่ได้ ก็คิดให้ตรงสัจธรรม ตรงอย่างไร

มนุษย์ทั้งหลายล้วนต้องการความสุข ไม่ได้ต้องการทุกข์ แล้วเราจะสร้างทุกข์ให้ตนเองได้อย่างไร ดังนั้น ทุกข์ไม่ได้เกิดเพราะตนเป็นผู้สร้าง

คนอื่นเขาก็ไม่ได้สร้างทุกข์ให้เรา เขาแค่อยากสร้างสุขให้ตัวเอง แต่เกณฑ์ความสุขของเขาอาจแตกต่างจากเกณฑ์ความสุขของเรา ความแตกต่างทำให้ไม่กลมกลืนกัน เมื่อกลืนกลมผสมกันไม่ได้ ก็อาจเบียดกัน เบียดกันบ่อย ๆ ก็กระทบกัน เมื่อกระทบกัน ใจก็กระเทือน เวลากระเทือนแรง ๆ ก็เป็นทุกข์ ดังนั้น คนอื่นก็ไม่ได้จงใจสร้างทุกข์ให้เรา

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ตนสร้างให้ ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อื่นสร้างให้ ทุกข์มีเพราะอวิชชามี ทุกข์ไม่มีเพราะอวิชชาไม่มี"

อวิชชา คืออะไร

อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะไม่รู้จึงปรุงแต่ง แล้วก็ยึดถือสิ่งที่ปรุงแต่ง ยึดถือมาก ๆ ก็ปั้นสิ่งที่ยึดถือนั้นว่าเป็นตน ตนที่ยึดถือไว้นั่นเองที่รู้สึกทุกข์

ดังนั้น ถ้าสลายความเป็นตนเสีย ผู้ทุกข์ก็ไม่มี

ถ้าไม่ยึดถือ ก็ไม่มีเงื่อนไขให้เกิดทุกข์

ถ้าไม่ปรุงแต่ง ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือ

เมื่อดับอวิชชาได้ โรงงานปรุงแต่งก็ปิดกิจการ เลิกทุกข์ถาวร

พระพุทธองค์จึงทรงบอกว่า ทุกข์มีเพราะอวิชชามี ทุกข์ไม่มีเพราะอวิชชาไม่มี

3. หากยังไม่มีกำลังพอที่จะดับอวิชชา ก็บริหารความสัมพันธ์ให้ดี

โดยอยู่กับคนที่มีเกณฑ์ความสุขเหมือน ๆ กัน ก็จะลงตัวกันดี ไม่มีการกระทบกระทั่งกัน

หากต้องอยู่กับคนที่ต่างเกณฑ์กัน ต้องเคารพสิทธิ์ในความแตกต่าง เคารพสิทธิ์ของเราที่จะแตกต่างจากเขา เคารพสิทธิ์ของเขาที่จะแตกต่างจากเรา ตราบใดที่ยังเคารพสิทธิ์กันอยู่ แม้แตกต่างแค่ไหนก็ไม่กระทบกัน

ความไม่เคารพสิทธิ์กันและกันนี่แหละที่สร้างหายนะให้บุคคล และโลกมาหลายยุคหลายสมัย

หากต้องทำกิจร่วมกับคนที่แตกต่าง ก็จัดระบบความรับผิดชอบและการตัดสินใจให้ดี ใครรับผิดชอบเรื่องใด ต้องให้เกียรติเขาตัดสินใจในเรื่องนั้น หากรับผิดชอบร่วมกันก็ใช้เสียงส่วนใหญ่ ใครรับผิดชอบมากที่สุดก็ให้ตัดสินใจมากที่สุด

4. แม้จะพยายามบริหารความสัมพันธ์อย่างดี ก็ยังต้องเหนื่อยยากกับการบริหารความสัมพันธ์อยู่ เพราะอารมณ์มนุษย์ไม่แน่นอน แม้เราจะเคารพความแตกต่าง หากมีใครไม่เคารพความแตกต่าง เขาก็จะเป็นทุกข์และสาดความทุกข์ให้คนอื่น ทำให้วงแตกได้

ดังนั้น วิเวกแม้ในท่ามกลาง ไม่รับเข้ามาในใจ ไม่ใส่ใจในความบ้าของใคร โดยเห็นว่า อ๋อ อวิชชาชุดนั้นกำลังดิ้น ปล่อยวาง ๆ  

น่าสงสารจริง มนุษย์ยุคนี้เข้าใจว่าอวิชชาปรุงแต่งทุกข์นั้นว่าเป็นตน ฉันทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่อวิชชาเป็นตัวทุกข์ต่างหาก ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัส คนหลงผิดเลยติดหล่มอวิชชาดูดอย่างน่าสงสารยิ่ง

หากใจมีกำลัง ก็แผ่เมตตาให้เขาเลย เราก็เคยบ้าเคยทุกข์มาก่อน ก็ควรสงสารบ้ารุ่นน้อง ทุกข์รุ่นน้อง เมตตาคนที่กำลังตกหล่มทุกข์ เมื่อแผ่เมตตาให้คนอื่นได้ ความหดหู่จะหายไป จะปรากฏความเข้าใจ สงสาร กอปรปีติสุขแห่งเมตตาแทน 

5. เมื่อฝึกวิเวกท่ามกลางบ่อย ๆ จะเห็นความน่าสงสารของมนุษย์ที่ล้วนเต้นตามอวิชชา ปรุงแต่งทุกข์โดยไม่จำเป็น แถมสาดทุกข์ใส่กันอย่างน่าเกลียด ซึ่งเราจะไม่ยอมหลงตกหลุมอวิชชาอีกแน่

เมื่อเห็นชัด ก็น้อมวิมุตติ ฝึกจิตทุกวัน เข้าไปดูในจิตใจตนเอง ตั้งหน้าตั้งตาดับอวิชชาให้ได้อย่างเด็ดขาด จะได้หายจากโรคปรุงแต่ง โรคบ้า โรคทุกข์สิ้นเชิง

วิจัยทุกซอกมุมของจิตใจนี้ ชีวิตนี้ ส่องแสงสัจธรรมเข้าไปตลอดว่า "สิ่งทั้งปวงในใจนี้ ในชีวิตนี้ ไม่เป็นตน ปล่อยวาง ๆ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นปั้นแต่ง"

ดับอวิชชาได้หมด ทุกข์ก็ไม่ปรากฏอีก มีแต่ธรรมชาติที่เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง

นี่คือกลไกการพลิกจิต พลิกชีวิต พลิกสถานการณ์ และยกภูมิให้พ้นภัยถาวร