Main navigation

วิธีบำบัดโรคกลัวคนไม่รัก

Q ถาม :

กราบเรียนขอคำชี้แนะจากท่านอาจารย์เรื่องวิธีเอาจิตกลัวคนไม่รักออกค่ะ เพราะที่ผ่านมาไม่รู้ตัว และยังมีความเคยชินอยู่เยอะ จะมีการประเมินอย่างไรว่าจิตประเภทนี้กำลังทำงานคะ และจะละได้เด็ดขาดได้อย่างไรคะ น้อมกราบท่านอาจารย์ค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

อาการของโรคกลัวคนไม่รัก

1. จะ over care คนอื่น

2. จะยอมคนอื่นไปทุกเรื่อง

3. จะพยายาม nice จนผิดธรรมชาติ

4. เอาใจคนอื่นมากกว่าจริงใจต่อตนเอง

5. ไม่กล้าพูดความจริง

6. จะรับใช้คนไปทั่ว ไม่เลือก

7. พยายามหาเทคนิคนานาประการให้คนอื่นรักตน

8. เมื่อเข้าใจไปว่าใครบางคนไม่รัก จะประสาท ใจจะร้อนรนทนไม่ได้ เครียด หดหู่ เสียความเชื่อมั่นในตน


วิธีบำบัดโรคกลัวคนไม่รักให้ขาดสูญ

1. จริงใจต่อตนเองก่อน แล้วจริงใจต่อคนอื่นในขอบเขตที่ไม่ทรยศต่อใจตนเอง

2. จิตไม่ปรุง

3. เป็นสุขในจิตให้เต็ม

4. ทำความสุขให้อิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขใด ๆ

5. เข้าใจว่าความรักของใคร ๆ ล้วนเป็นจิตตสังขาร แปรปรวน ไม่ควรสนใจ

6. เจริญอัปปมัญญา เป็นผู้ยินดีให้สากล ไม่สนว่าใครจะให้หรือไม่

7. อยู่กับผู้บริสุทธิ์ผู้หลุดพ้นจากความรักความชังแล้ว แต่อยู่กันด้วยกรุณาบริสุทธิ์

8. น้อมจิตสู่พระนิพพานบริสุทธิ์ จนหมดจด ไร้ทุกข์ อมตะถาวร 


ผู้ถาม

กราบเรียนสอบถามเพื่อความกระจ่างเพิ่มเติมค่ะ ในช่วงแรก ๆ ของการปรับจิต เพื่อความพอเหมาะพอดี เราจะประเมินได้อย่างไรว่าเรา

1. กำลังยอม เพราะกลัวเค้าไม่รัก 
2. กำลังอดทน เพื่อฝึกจิตตัวเอง เพื่อคงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ
3. กำลังเสียสละ เพื่อส่วนรวม เพื่อสิ่งที่ควรทำ
4. กำลังทำสิ่งที่พอเหมาะพอดีแล้ว
5. ทำอย่างไรจะไม่ให้ความเอาแต่ใจกำเริบคะ

กราบขอคำชี้แนะจากท่านอาจารย์ค่ะ กราบขอบพระคุณค่ะ

อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ

ยอมเพราะกลัวเขาไม่รัก 

1. คำนึงถึงความพอใจของเขาเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความพอใจของตนเอง ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์สุดท้าย

2. วาดหวังว่าเมื่อเขาพอใจแล้ว เราจะเป็นสุข ลืมไปว่าเราเป็นสุขได้ทันทีเดี๋ยวนี้ แล้วค่อยแผ่ความสุขให้คนอื่น เขาจึงจะพอใจ

อดทน เพื่อฝึกจิตตัวเอง 

1. เข้าใจจิตเจตสิกของเขา เมื่อเข้าใจแล้ว ก็สงสารเขา และปล่อยวางได้ตลอดเวลา จึงทนได้

2. มี mission ที่ยิ่งใหญ่สูงส่ง และสิ่งที่เผชิญอยู่นี้เป็นทางเดียวที่จะไปถึงเป้าหมายได้ จึงยินดีทนเพื่อผลที่ยิ่งใหญ่กว่า

เสียสละ เพื่อส่วนรวม 

1. ยินดีสละความสุขสบายของตน เพื่อทำให้ส่วนรวมเป็นสุข

2. ยินดีสละสิทธิของตน เพื่อมอบให้ส่วนรวม

ไม่ให้ความเอาแต่ใจกำเริบ

1. สถาปนาความถูกธรรมเป็นตัวตั้ง หลอมรวมความถูกใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับความถูกธรรม 

2. สถาปนาความชอบธรรมเป็นตัวตั้ง หลอมรวมความชอบใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับความชอบธรรม

3. เมื่อไม่เอาแต่ใจตน ก็ต้องไม่ตามแต่ใจคนอื่นด้วย เพราะใจคือที่รวมของอวิชชา กิเลส ตัณหา ปัญญา คุณธรรม กรรม จึงไม่พ้นความวุ่นวาย

เกณฑ์ของความพอเหมาะพอดี

1. ความยินดี  

กิจนั้นเป็นสิ่งที่เรายินดีทำ ผู้ร่วมกิจยินดีร่วมกับเรา ส่วนรวมยินดีสนับสนุนเรา

2. ความสุข  

เราทำกิจนั้นแล้วเป็นสุข ผู้ร่วมกิจกับเราเป็นสุข ผู้สนับสนุนเราเป็นสุข

3. ความเจริญ

เราทำกิจนั้นแล้วเจริญดี ผู้ร่วมกิจกับเราเจริญดี ผู้สนับสนุนเราเจริญดี

4. ความบริสุทธิ์

เราทำกิจนั้นแล้วบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ผู้ร่วมกิจกับเราบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ผู้สนับสนุนเราบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น 

5. ความสำเร็จที่คุ้มค่า

เราทำกิจนั้นแล้วสร้างความสำเร็จที่คุ้มค่าจริง ผู้ร่วมกิจกับเราร่วมสร้างความสำเร็จที่คุ้มค่าจริง ผู้สนับสนุนเราร่วมความสำเร็จที่คุ้มค่าจริง