Main navigation

ปรารถนาดีต่อผู้อื่นแต่เขาไม่เข้าใจ จิตตก ทำอย่างไรดี

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ บ่อยครั้งเราหวังดี แต่ผู้ที่เราหวังดีด้วยเขาไม่เข้าใจ พูดให้เราจิตตก เสียความมั่นใจในตนเองไป บางครั้งปฏิเสธเราอย่างไม่มีเยื่อใยไปเลย ไม่รู้จะวางตัวอย่างไรดี เราควรจะทำอย่างไรดีครับ ผมยืนยันว่าเราหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ครับ ไม่มีอะไรแอบแฝง

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ในโลกของคนร้าย ต่างหวังร้ายต่อกัน หรือหวังดีต่อตนและหวังร้ายต่อคนอื่น

ในโลกของคนดี ต่างหวังดีต่อกัน หรือหวังดีต่อคนอื่นแต่ลืมหวังดีต่อตน

ความหวังดีทั้งหมดยังไม่ใช่ความดี ยังเป็นแค่การเสียดสีกัน ด้วยคาดว่าจะทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น ซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง บางครั้งก็สร้างหายนะไปเลยบ้าง และความหวังดีที่ให้คุณมากกว่าให้โทษเสมอ


ความหวังดีที่ได้ผลบ้าง

ที่ครอบครัวเป็นครอบครัวอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะความหวังดีให้ผลดีมากกว่าผลร้าย เพราะความหวังดีของพ่อแม่มีความบริสุทธิ์มาก มีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หล่อเลี้ยงความหวังดี ให้ทั้งสะอาดและแข็งแรงมาก

ลองคิดดูว่า วันนี้ที่พ่อแม่จากเราไปพร้อมความหวังดี ให้ทั้งสะอาดและแข็งแรงไร้ประมาณนั้น จากไป เหลือแต่พี่น้องอยู่ด้วยกัน ความหวังดีในหมู่พี่น้องก็มีอยู่ แต่ไม่หมดจดเท่า ไม่แข็งแรงเท่าความหวังดีของพ่อแม่ ความสัมพันธ์ บรรยากาศ และการอยู่ร่วม ทำกิจร่วมในหมู่พี่น้องจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น กฎข้อที่ ๑ แห่งความหวังดีว่าจะได้ผลอย่างไร คือ ความบริสุทธิ์ แข็งแรงด้วยอัปปมัญญาในความหวังดีเอง


ความหวังดีที่ไม่ได้ผลบ้าง

ที่หมู่ชนที่หวังดีต่อกันแต่ผลออกมาไม่ดี เพราะความหวังดีนั้นไม่ถูกปรารถนา ไม่ถูกปริมาณ ไม่ถูกกาลเทศะ  

ความหวังดีไม่ถูกปรารถนา เช่น เขาต้องการความสงบแต่ไปชวนคุย เขาต้องการความสุขแต่เอาเรื่องทุกข์ไปเล่าให้ฟัง เขาต้องการความหวังแต่เอาความกังวลในปัญหาสารพันที่ตนเป็นไปบอกกล่าว เป็นต้น

ความหวังดีไม่ถูกปริมาณ เช่น เขาต้องการอาหารหนึ่งถ้วยเล็ก แต่ผู้ให้กลัวเขาจะไม่พอ เลยให้หนึ่งชามใหญ่ เขาจะทิ้งก็เกรงใจผู้ให้ จึงฝืนทนกินไป อาหารไม่ย่อย อาจถึงป่วยหรือตายได้ เป็นต้น

ความหวังดีไม่ถูกกาลเทศะ เช่น ประกาศความดีในการปฏิบัติธรรมแบบละตัวตน หรือไม่ยอมประกาศความดีในงาน ให้รางวัลบุคคลยอดเยี่ยม เพราะกลัวตัวตนจะเกิดขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น กฎข้อที่ ๒ แห่งความหวังดีว่าจะได้ผลอย่างไร คือ หวังดีนั้นถูกปรารถนา ถูกปริมาณ ถูกกาล มากน้อยเพียงใด


ความหวังดีที่ให้คุณบ้าง ให้โทษบ้าง

ความหวังดีใดที่ระคนทั้งความสะอาด ความสกปรกบ้าง ความหวังดีนั้นจะให้คุณบ้างให้โทษบ้าง เช่น

๑. หากหวังดีแล้วลำเลิกบุญคุณ ผู้รับที่ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ จะอึดอัดและปฏิเสธที่จะรับ เพราะเป็นความหวังดีที่มีดอกเบี้ยสูง

๒. หากกล่าวอ้างแต่ความหวังดี แต่ไม่มี action plan สู่ความสำเร็จตามหวัง ผู้รับจะลังเลใจที่จะรับความหวังดีเช่นนั้น เพราะยังเลื่อนลอยเกินไป

๓. หากมอบความหวังดีให้ด้วยการยัดเยียด, push, force ผู้รับจะปฏิเสธก่อนเสมอ เป็นไปตามสัญชาตญาณป้องกันตัวเอง

๔. หากมอบความหวังดีให้ด้วยการอ้อนวอนให้รับ ผู้รับจะตรวจสอบก่อนอีกหลายชั้นเสมอ เพราะผิดธรรมชาติความหวังดี

๕. หากมอบความหวังดีให้ด้วยอาการไม่ให้เกียรติ ผู้รับจะไม่ให้ค่ากับความหวังดีนั้น

๖. หากมอบความหวังดีให้ด้วยอาการอ่อนโยนเคารพให้เกียรติ ผู้รับมีแนวโน้มจะรับความหวังดีนั้นโดยง่าย

๗. หากมอบความหวังดีให้ด้วยความเชื่อของตนเอง ที่ไม่สอดรับกับความเชื่อของผู้รับ ผู้รับจะปฏิเสธไว้ก่อนเสมอ เพราะความไม่ลงตัวโดยทิฏฐิ

๘. หากมอบความหวังดีให้ด้วยความเชื่อของตนเอง ที่สอดรับกับความเชื่อของผู้รับ ผู้รับมักจะรับไว้ก่อนเสมอ เพราะความลงตัวโดยศรัทธา เป็นต้น

เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นกฎแห่งความหวังดีว่าจะได้ผลอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นกฎข้อที่ ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑


ความหวังดีที่สร้างหายนะไปเลยบ้าง

ที่นักการเมืองซึ่งต่างก็หวังดีต่อประเทศ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง แข่งขัน ทำลายล้างกันอยู่ทั่วโลก เพราะหยิบยื่นความหวังดีที่ไม่เป็นที่ต้องการให้แก่กัน ไม่ต้องการทั้งโดยเกณฑ์ความดีที่แตกต่างบ้าง อุดมการณ์ที่แตกต่างบ้าง ประโยชน์ที่แตกต่างบ้าง วิธีการที่แตกต่างบ้าง ตั้งตนเป็นศัตรูทางการเมืองไปแล้วบ้าง ความหวังดีที่ถมเข้าไปในบริบทนี้ แม้จะหวังดีจริง อีกฝ่ายทำเป็นพูดดีด้วย แต่เป็นแค่มารยาทบนใบหน้าและวาจาเท่านั้น เมื่อมีโอกาสก็ห้ำหั่น ทำลายล้างกันเสมอ

ดังนั้น กฎข้อที่ ๑๒ แห่งความหวังดีว่าจะได้ผลอย่างไร คือ ความหวังดีที่ใส่เข้าไปในบริบทที่ไม่เห็นค่า ไม่ต้องการความหวังดีนั้น


ความหวังดีที่ให้คุณมากกว่าให้โทษเสมอ

ความหวังดีที่ให้คุณมากกว่าให้โทษเสมอ คือ

๑. ความหวังดีที่เคารพสิทธิ์ผู้รับ ผู้รับย่อมมีสิทธิ์เลือกเสมอว่าเขาต้องการรับความหวังดีที่มีผู้มอบให้หรือไม่ หากเขาเห็นค่า สบายใจที่จะรับ ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะรับความหวังดีนั้น หากเขาไม่เห็นค่า ไม่สบายใจที่จะรับ ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะรับหรือไม่รับความหวังดีนั้น 

๒. ความหวังดีที่มีความพอเหมาะพอดีกับผู้ให้ ผู้รับ และผลต่อเนื่องที่ดีเสมอ ความหวังดีที่กรองกลั่นมาแล้วอย่างดีเช่นนี้จึงเป็นหลักประกันผลดีจริง เป็นที่ปรารถนาจริง ผู้ให้ชื่นใจจริง ผู้รับรู้สึกซาบซึ้งจริง

ดังนั้น จึงเป็นกฎแห่งความหวังดี ข้อที่ ๑๓, ๑๔


จิตตก เสียความมั่นใจ จะวางตัวอย่างไรดี  

ที่ตกไม่ใช่จิต จิตเป็นรู้เฉย ๆ ไม่มีขึ้นไม่มีลง ที่ตกน่ะ คือ อัตตาตก จิตก็ตามรู้เฉย ๆ  

อัตตาเป็นสิ่งที่ไม่ควรรักษา ดังนั้นมันตกไปน่ะดีแล้ว ทิ้งไปเลย อย่าเก็บพิษกัมมันตภาพ (ตัวแผ่ทุกข์) มาไว้ในใจอีก


สรุป

ดังนั้น จะอ้างความหวังดี...แล้วคนอื่นต้องเข้าใจ ยอมรับ นั่นเป็นแค่ความอยากลม ๆ แล้ง ๆ ต้องพัฒนาความหวังดีนั้นให้เลอค่า เลิศคุณ หมดจด อย่างพอเหมาะพอดีด้วย โดยปราศจากทิฏฐิ มานะ โมหะ ความหวังดีนั้นจึงจะเป็นที่ยอมรับ 

ผู้รับเองก็อย่าใจง่ายตกหลุมความหวังดีเล็ก ๆ น้อยที่คุณภาพต่ำ side effect มาก ต้องประเมินผลดีจริงต่อเนื่องก่อนเสมอ

จำหลักไว้ว่า ความหวังดีไม่เป็นแก่นสาร ผลดีจริงจนถึงที่สุดจึงเป็นแก่นสาร หากมอบและรับความหวังดีที่ล้ำค่า ความสัมพันธ์จึงมีค่า

 

   

คำที่เกี่ยวข้อง :

ความคาดหวัง อัตตา