Main navigation

ควรบริหารธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความอยากอย่างไรให้ลงตัวกับการปฏิบัติธรรม

Q ถาม :

กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ในการบริหารธุรกิจเราต้องมีเป้าหมาย ซึ่งก็ขับเคลื่อนด้วยความอยาก แต่ธรรมะก็บอกว่าความอยากเป็นตัณหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็เลยไปไม่เป็นเลย ถ้าไม่อยากก็ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีพันธกิจ ก็บริหารธุรกิจไม่ได้ แต่พออยาก ก็ไม่รู้ว่าตัวเองสร้างตัณหาเหตุแห่งทุกข์หรือไม่ เลยสับสน

ขอท่านอาจารย์กรุณาให้แนวทางด้วยครับ อยากให้การปฏิบัติธรรมกับการทำงานให้ไปด้วยกันได้ ชีวิตจะได้ลงตัว

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า

เมื่อบุคคลลอยคออยู่กลางทะเล ย่อมปรารถนาเข้าสู่ฝั่ง ความปรารถนาเข้าสู่ฝั่งทำให้เขาเพียรว่ายน้ำ ความเพียรว่ายน้ำทำให้ถึงฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้ว ความปรารถนาย่อมหายไป เพราะถึงซึ่งฝั่งแล้ว

ดังนั้น เราต้องบริหารความปรารถนาให้ได้จึงนำไปสู่ผลดี ความหวังไม่ใช่ตัณหาทั้งหมด ความหวังมี ๔ ประเภทด้วยกัน

๑. ความหวังที่เป็นตัณหา คือหวังในกาม (กามตัณหา) หวังในความเป็นต่าง ๆ (ภวตัณหา) หวังในความวิบัติ (วิภวตัณหา)   

๒. ความหวังที่ไม่เป็นตัณหา คือกุศลจิต เช่น หวังความหมดจดจึงเจริญบุญ หวังชีวิตที่ปลอดภัยจึงรักษาศีล หวังความสงบสุขจึงเจริญสมาธิ หวังปัญญาญาณแท้จึงเจริญวิปัสสนา หวังบริสุทธิ์หลุดพ้นจึงเพียรวิราคะ 

๓. ความหวังที่ผสมตัณหากับกุศลจิต คือการสร้างด้วยตัณหาเพื่อเจริญกุศล หรือเจริญกุศลเพื่อสนองตัณหา การสร้างด้วยตัณหาเพื่อเจริญกุศล เช่น อยากรวยเพื่อจะมีเงินทำบุญ อยากมีกิจการเพื่อสร้างงานให้คน อยากประสบความสำเร็จเพื่อดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้สบาย ๆ  

การเจริญกุศลเพื่อสนองตัณหา เช่น รักษาศีลเพื่อคนจะได้ศรัทธา เจริญสมาธิเพื่อจะได้มีอำนาจจิตควบคุมทุกอย่างให้ได้ดังใจ อยากมีความขลังเพื่อจะได้มีบริวารมาก ลาภสักการะมาก

๔. ความหวังที่จะพ้นจากความหวังทั้งปวง คือหวังที่จะบริสุทธิ์ จึงพยายามดับจิตปรุงแต่งทั้งหมด เมื่อจิตไม่ปรุง ความหวังใด ๆ ก็ไม่ปรากฏ ก็เป็นอันพ้นความหวัง เพราะความหวังทั้งหมดเป็นผลของการปรุงจิตทั้งสิ้น

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ก็ตั้งวิสัยทัศน์ และกำหนดพันธกิจให้เป็นกุศลจิต เพื่อเป็นกำลังไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นทั้งของตน และทุกคนที่เกี่ยวข้องตามกาลอันควรกับแต่ละ stakeholder ก็จะเป็น vision, mission ที่คุ้มค่าควรทำ