Main navigation

วิญญาณร้อนได้อย่างไรและจะดับวิญญาณได้อย่างไร

Q ถาม :

เรียนท่านอาจารย์ครับ ในอาทิตตปริยายสูตร บอกว่าวิญญาณเป็นของร้อน ผมสงสัยว่าวิญญาณไม่มีตัวตน จะร้อนได้อย่างไรครับ ผมเห็นในปฏิจจสมุปบาทสูตรเล็ก พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงดับที่วิญญาณก็ตรัสรู้ธรรมได้ ผมก็สนใจที่จะจัดการที่วิญญาณเช่นกันครับ จึงเรียนถามท่านอาจารย์ เราจะดับวิญญาณได้อย่างไรครับ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูก ขอความกรุณาด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

โอ เรื่องนี้ลึกซึ้งและละเอียด ค่อยพิจารณาไปนะครับ

วิญญาณคืออะไร

วิญญาณเป็นแสงรู้ มีอยู่แต่ไม่เป็นตน เหมือนแสงในธรรมชาติก็มีอยู่แต่ไม่เป็นตน เป็นเพียงคลื่นพลังงานใน form อนุภาค photon วิญญาณก็เป็นแสงรู้เรียกว่าวิญญาณธาตุ มีอยู่ในธรรมชาติ วิญญาณของชีวิตเกิดดับพร้อมผัสสะ 

วิญญาณร้อนได้อย่างไร

วิญญาณร้อนเพราะการเสียดสี เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ที่ส่องออกมา พอคลื่นโฟตอนมาเสียดกับบรรยากาศโลก ความร้อนก็มาก ส่วนในอวกาศไม่มีชั้นบรรยากาศ จึงปราศจากการเสียดสี อุณหภูมิในอวกาศจึงต่ำมาก

การเสียดสีของชีวิตอยู่ที่ไหน

ชีวิตมีการเสียดสีเรียกว่าผัสสะ เกิดที่ตากับภาพ หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส ผิวกับบรรยากาศ ใจกับอารมณ์  

ผัสสะทางกายนี่เข้าใจง่ายเพราะเห็นชัด เช่น ดูทีวีมาก ๆ ก็ตาร้อน หัวร้อน ฟังข้อมูลมาก ๆ ก็หูร้อน หัวร้อน สูดกลิ่นมาก ๆ ก็จมูกร้อน หน้าร้อน กินมาก ๆ ก็ลิ้นร้อน ตัวร้อน กระเพาะ ลำไส้ ทวาร ก็ร้อนทั้งหมด สัมผัสมาก ๆ กายร้อน ใจร้อน

ผัสสะที่เกิดบ่อยที่สุด มากที่สุด ต่อเนื่องที่สุดคือผัสสะทางใจ ทั้งความนึก ความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ เจตนา มากระทบใจเป็นอารมณ์ต่าง ๆ เกิดดับในใจตลอดเวลา วิญญาณเกิดดับถี่จึงทำให้เกิดรู้สึกที่ต่อเนื่อง เหมือนไฟฟ้า เกิดดับถี่ยิบก็เกิดแสงไฟที่ต่อเนื่อง

ปัจจัยหลักที่ทำให้ร้อนต่อเนื่อง

ในอาทิตตปริยายสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า ร้อนต่อเนื่องเพราะราคะ โทสะ โมหะ ทำให้ร้อนต่อเนื่อง

ราคะ เกิดเพราะตัณหากับสิ่งที่ประสบเข้ากันได้ พอเกิดราคะ ความร้อนในใจก็เกิดแล้ว หากรีบสลัดออกเลยก็หายเร็ว แต่หากหมกหมุ่นครุ่นคิดที่จะให้ได้มาก็ร้อนอีกมาก พอเสพสิ่งนั้น ๆ ก็เร่าร้อนอีก การคิดปรุงแต่งวิธีรักษาไว้ก็ร้อนอีกยาว ต้องรับรู้เสียดสีเรื่องราวเชิงซ้อนอีกหลายก็ร้อนอีกเยอะ เกิดผลผลิตและความรับผิดชอบต่อเนื่องก็ร้อนอีกนาน กายก็เร่าร้อนตาม ใจก็ร้อนเพราะจินตนาการปรุงแต่งสารพัด ชีวิตร้อนรนเหน็ดเหนื่อยเหลือหลาย

โทสะ เกิดเพราะตัณหากับสิ่งที่เข้ามาไม่ลงตัวกัน ขัดแย้งกัน วิญญาณก็รับการเสียดสี ร้อนรุนแรง ใจก็ร้อนมาก หากสลัดออกเลยไม่ปรุงต่อ ก็หายเร็ว แต่หากปรุงต่อก่อพยาบาท ก็จะย้ำอยู่กับความไม่ลงตัวนั้น ร้อนสะสมเพิ่มทวีทุกครั้ง หากคิดอ่านที่จะทำลายก็ร้อนอีกมาก ทำลายได้ก็ร้อนอีกอักโข ด้วยความร้อนที่เกิด ใจกายก็ถูกแผดเผาตลอดกระบวนการ ชีวิตก็ย่อยยับ

โมหะ เกิดเพราะความไม่รู้ จึงคิดพล่านฟุ้งซ่านไป เกิดเพราะความหลงผิดจึงคิดพล่านฟุ้งซ่านไป เกิดเพราะบริการราคะจึงคิดพล่านฟุ้งซ่านไป เกิดเพราะบริการโทสะจึงคิดพล่านฟุ้งซ่านไป ตลอดสายที่ฟุ้งซ่านไป วิญญาณก็เสียดสีรับรู้เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่อง ใจก็ร้อนพลุ่งพล่าน หากตัดใจสลัดความฟุ้งซ่านออกได้ ก็หายเร็ว แต่หากปรุงต่อก็ยิ่งเผาไหม้ ร้อนมาก จนตึงเนื้อตึงตัว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ระบบต่าง ๆ รวนไปหมด ชีวิตก็เตลิด พอสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นตามที่หลง ชีวิตก็พลิกผันปั่นป่วน

ความรู้สึกร้อนสัมพัทธ์

แต่ละคนจะรับความร้อนได้ไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับที่มนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น รับอุณหภูมิ 25 องศา ถึง 45 ก็พอรับได้ ส่วนงูเป็นสัตว์เลือดเย็น รับอุณหูมิ 25 องศา ถึง 45 ก็จะร้อนมากรับไม่ได้ งูจึงหลบร้อนอยู่ใต้ดิน และออกมาหากินกลางคืนเป็นส่วนใหญ่

คนที่เมาราคะ โทสะ โมหะ มีใจกายเร่าร้อนเป็นประจำ เวลาเจอปัญหา จะไม่ค่อยรู้สึก เพราะอุณหภูมิในตนสูงอยู่แล้ว แต่เวลาเจอเมตตาเย็นใจนิดหน่อย จะรู้สึกปลื้มมาก

คนที่อยู่ในสมาธิลึก มีใจกายเย็นเป็นประจำ เวลาเจอเมตตาเย็นใจนิดหน่อย จะรู้สึกเฉย ๆ เพราะตนก็มีเช่นกัน แต่เวลาได้ยินการกระแทกนิดหน่อยก็จะร้อนผ่าวขึ้นมา เพราะความต่างคลื่นมาก 

เทวดาผู้มีศีลเป็นปกติ พอเห็นมนุษย์รักษาศีลก็จะอนุโมทนา พอเห็นมนุษย์ไม่รักษาศีลก็จะหงุดหงิด อยากจะสั่งสอน เป็นต้น

ดังนั้น ความรู้สึกร้อนไม่ใช่ค่าคงที่ เป็นค่า relative ผกผันกับระดับความร้อนความเย็นของผู้สัมผัส

วิญญาณที่เย็นมีไหม

เมื่อวิญญาณร้อนด้วยราคะ โทสะ โมหะ วิญญาณก็สามารถเย็นได้ด้วยสุข สงบ เมตตา อุเบกขา ความว่าง 

เมื่อสแกนดูทั้งจักรวาล ภพที่ร้อนที่สุดในจักรวาลคือนรก ภพที่เย็นที่สุดคือพรหม  

ส่วนพระนิพพาน ปราศจากความร้อนความเย็นทั้งปวง เพราะพ้นคู่ตรงข้ามแล้ว มีแต่สุขอย่างยิ่งในว่างอย่างยิ่ง

จะดับวิญญาณได้อย่างไร

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า กุลบุตรสามารถดับวิญญาณได้ด้วยการดับ "ฉันทราคะ (ความใส่ใจหมกมุ่นในใยดีหรือใยร้าย)" 

เมื่อดับฉันทราคะทั้งในสิ่งที่ไม่ดี และสิ่งที่ดีได้ จิตก็ปราศจากการปรุงใด ๆ

เมื่อจิตไม่ปรุง ผัสสะทางใจก็ไม่เกิด ความร้อนในใจก็ไม่มี

เมื่อใจไม่ปรุงไม่ร้อน กายก็ไม่ต้องดิ้นสนอง กายก็สงบเย็น

เมื่อใจกายไร้การปรุง วิญญาณก็ดับ

หากยังมีชีวิตอยู่ วิญญาณสะอาดธรรมชาติที่ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ก็จะทำงานแบบ "รู้ก็สักว่ารู้ ไม่ใส่ใจพยัญชนะ (ถูกผิดสมมติ) และอนุพยัญชนะ (นิยาม นิยม ไม่นิยม)" ใด ๆ ก็หลุดพ้นได้เฉพาะตน