ครูบาอาจารย์กล่าวถึงนิพพานต่างกัน เราควรตั้งจิต ปฏิบัติแนวทางไหน
ท่านอาจารย์ครับ มีอาจารย์นักวิชาการบางท่านบอกว่าพระนิพพานสูญ ไม่มีอะไรเลย แต่ครูบาอาจารย์ใหญ่สายวัดป่าบางท่านเล่าว่าท่านพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาโปรดท่าน เมื่อครูบาอาจารย์ในพระศาสนาสอนต่างกันอย่างนี้ เราควรจะตั้งจิต ปฏิบัติแนวทางไหนดีครับ
สุญญัง (ว่าง) กับ สูญหาย (ไม่เหลืออะไรเลย) กับ สูญสิ้น (หมดไป) เป็นคนละอย่างกัน
พระนิพพาน ปรมังสุญญัง ว่างอย่างยิ่ง คือมี absolute ว่าง อยู่
พระนิพพานสูญหาย คือ ไม่มีขันธ์อันเป็นทุกขังอนิจจังเหลืออยู่เลย หายวับ เหมือนไฟที่ดับมอดไป
พระนิพพานสูญสิ้น คือ หมดวงจรอวิชชา ปฏิจจสมุปบาท สังโยชน์สิ้นเชื้อเลย ไม่อาจงอกใหม่ได้อีก
แล้วพระนิพพานมีอยู่ไหม
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า พระนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่อาจรู้ได้ด้วยการตรึก (นึกคิด) ไม่อาจรู้ได้ด้วยตรรก (วิเคราะห์เอาตามถ้อยคำ)
พระนิพพานรู้ได้ด้วยการถูกต้อง เข้าถึงเท่านั้น เป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ
พระโยคาวจรจะถูกต้อง เข้าถึงพระนิพพานได้ด้วยการปฏิบัติตามอริยสัจ รู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค (มรรคจะเจริญดีด้วยการสมังคีโพธิปักขิยธรรม)
เราควรปฏิบัติอย่างไรดี
ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าดีที่สุด คือ ปฏิบัติจริงจังอย่างสายกลางในการกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค (สมังคีโพธิปักขิยธรรม)
กลไกเข้าถึงนิพพาน
ในอัฏฐกนาครสูตร ท่านพระอานนท์บอกว่า บุคคลจะเข้าถึงนิพพานได้ เมื่อปัจจัยปรุงแต่ง (วงจรอวิชชา) ดับสูญไป
ปัจจัยปรุงแต่ง (วงจรอวิชชา) ดับสูญไปได้ในสมาธิ ฌาน ๑ ถึง ฌาน ๗ กอปรวิปัสสนาญาณ และวิราคะ (ปล่อยวางปัจจัยปรุงแต่ง)
ดังนั้น ปฏิบัติต่อเนื่องทุกขณะจิตใน สมถะ + วิปัสสนา × วิราคะ
ตัวชี้วัดการถูกต้อง เข้าถึงนิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเข้าถึงนิพพานแล้วจะทรงสภาวะว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง อมตะ (ไม่ตาย) จริง ๆ
เมื่อถึงสภาวะนี้แล้ว ค่อยบอกว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร
ถ้ายังไม่ถึง อย่าเพิ่งบอกว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นอกเหนือจากเอาพระพุทธดำรัส และพระอรหันโตวาทมากางเป็นแผนที่
เราจะตั้งจิตเดินทางแนวไหนดี
เมื่อบุคคลได้แผนที่ชุดเดียวกันมา (พระไตรปิฎก) แต่เข้าใจแผนที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความหมดจดแห่งจิต
พวกจิตหมดจดมาก สติปัญญาก็ดี ก็จะเข้าใจจริง ตั้งองศาการปฏิบัติถูกต้องตรง ก็ถึงที่หมาย
พวกจิตไม่หมดจด สติปัญญาน้อย ก็จะเข้าใจคลุมเครือ จึงพยายามตีความตามความเคยชินของตน ก็ตั้งองศาการปฏิบัติไม่ถูกตรง ก็ไม่ถึงที่หมาย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การตีความทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปฏิรูปเป็นเหตุให้ธรรมวินัยเสื่อม ความเสื่อมแห่งธรรมวินัยเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม (ไร้อริยะ)
ดังนั้น ทำจิตให้หมดจด (ไม่อวดเก่ง ไม่อวดรู้) ตั้งองศาใจตรง เดินทางตามผู้ที่ถึงเป้าหมายแล้ว คือ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นหลัก จะถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพที่สุด