ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของผู้ครองเรือน
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อกักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นทีฆชาณุ หรืออีกชื่อคือพยัคฆปัชชะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลให้พระองค์แสดงธรรมที่เหมาะสมกับตนซึ่งยังเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครองเรือน ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีในเงินและทองอยู่ เพื่อประโยชน์และความสุขในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบันและภายหน้า
ธรรม ๔ ประการเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน
อุฏฐานสัมปทา คือ การเลี้ยงชีพด้วยการประกอบการงานที่สุจริต เช่น กสิกรรมพาณิชยกรรม รับราชการ ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาในการงานนั้น
อารักขสัมปทา คือ การรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้มาโดยชอบธรรม ไม่ให้ใครมาลักเอาไป
กัลยาณมิตตตา คือ การคบหรือสนทนากับบุคคลที่บริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา และศึกษาตามบุคคลนั้นในสิ่งที่บุคคลนั้นถึงพร้อม
สมชีวิตา คือ การรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ฟูมฟายหรือฝืดเคืองจนเกินไป ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง หรือมีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง
ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ ประกอบด้วย เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน และมีมิตรสหายหรือเพื่อนชั่ว ส่วนทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน และมีมิตรสหายหรือเพื่อนดี
ธรรม ๔ ประการเพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า
สัทธาสัมปทา คือ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
สีลสัมปทา คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
จาคสัมปทา คือ เป็นผู้มีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว ยินดีในการสละ การจำแนกทาน
ปัญญาสัมปทา คือ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธาอันพระพุทธเจ้าตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสองคือประโยชน์ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า บุญคือจาคะนี้ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ดังนี้
อ่าน ทีฆชาณุสูตร