โกศลสูตร ๑
กาสีและโกศลชนบท และแว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด
พระเจ้าปเสนทิโกศล ประชาชนกล่าวว่าเป็นผู้เลิศในกาสีและโกศลชนบทและแว่นแคว้นประมาณนั้น
ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่โดยแท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น
เมื่อหน่ายในความดำรงอยู่ในสมบัตินั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเลิศแห่งสมบัติ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งเลว
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนส่องทิศให้ไพโรจน์อยู่ในที่มีประมาณเท่าใด
โลกธาตุพันหนึ่งมีอยู่ในที่มีประมาณเท่านั้น
พันโลกธาตุมีประมาณเท่าใด
ท้าวมหาพรหม โลกกล่าวว่าเป็นเลิศในพันโลกธาตุนั้น
ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่ ความแปรปรวนก็มีอยู่แม้แก่ท้าวมหาพรหม
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพันโลกธาตุนั้น
เมื่อหน่ายในพันโลกธาตุนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลว
สมัยที่โลกนี้พินาศ มีอยู่ เมื่อโลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปในพรหมโลกชั้นอาภัสสรโดยมาก สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จแล้วด้วยใจ มีปีติเป็นภักษา มีแสงสว่างในตัวเอง เที่ยวไปได้ในอากาศ มีปรกติดำรงอยู่ได้ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้นตลอดกาลยืนยาวนาน
เมื่อโลกพินาศอยู่ อาภัสสรเทพทั้งหลาย โลกกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ
ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีแม้แก่อาภัสสรเทพทั้งหลาย
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น
เมื่อหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสรนั้น ย่อมคลายกำหนัดในความเป็นผู้เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลว
บรรดาบ่อเกิดแห่งกสิณ ๑๐ ประการ คือ ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ วิญญาณกสิณ
วิญญาณกสิณในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง หาประมาณมิได้ ที่บุคคลจำได้ เป็นยอดสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีสัญญาอย่างนี้ มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนก็มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณ
เมื่อหน่ายในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลว
บรรดาอภิภายตนะ ๘ ประการ อภิภายตนะประการที่ ๘ คือ คนหนึ่งมีอรูปสัญญาในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกขาว เป็นเลิศ
สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้มีสัญญาอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในอภิภายตนะนั้น
เมื่อหน่ายในอภิภายตนะนั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลว
ปฏิปทา ๔ ประการ คือ
ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ๑
ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ๑
ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า ๑
ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ๑
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็วเป็นเลิศ
แม้ผู้ปฏิบัติอย่างนี้มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ปฏิบัติอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในปฏิปทานั้น
เมื่อหน่ายในปฏิปทานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
สัญญา ๔ ประการ คือ
ปริตตารมณ์
มหัคคตารมณ์
อัปปมาณารมณ์
อากิญจัญญายตนะว่า หน่อยหนึ่งไม่มี
บรรดาสัญญา ๔ ประการนี้ อากิญจัญญายตนะที่คนหนึ่งจำได้ว่า หน่อยหนึ่งไม่มี เป็นเลิศ
สัตว์ผู้มีสัญญาอย่างนี้ มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในสัญญานั้น
เมื่อหน่ายในสัญญานั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
บรรดาทิฐินอกศาสนา ทิฐิว่า ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว อัตภาพนี้ไม่พึงมีแก่เรา
ถ้าเราจักไม่มี ความห่วงในอะไรจักไม่มีแก่เราดังนี้ เป็นเลิศ
ผู้มีทิฐิอย่างนี้พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ความที่ใจไม่ชอบในภพ จักไม่มีแก่เขา และความที่ใจชอบในความดับภพจัก ไม่มีแก่เขา
สัตว์ผู้มีทิฐิอย่างนี้ มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีทิฐิอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในทิฐินั้น
เมื่อหน่ายในทิฐินั้น ย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลว
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุดมีอยู่
ผู้ที่ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่นั้น เลิศกว่าบรรดาสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ผู้สูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้น รู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีอยู่ ความเป็นอย่างอื่นมีอยู่แท้ ความแปรปรวนมีอยู่ แม้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้
อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัดในสิ่งที่เลิศ จะป่วยกล่าวไปไยในสิ่งที่เลวเล่า
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานอันยวดยิ่งในปัจจุบัน มีอยู่
ความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ประการ เลิศกว่าการบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบันแห่งสมณพราหมณ์
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ด้วยคำเท็จว่าว่า พระสมณโคดมไม่บัญญัติความกำหนดรู้กาม รูป เวทนาทั้งหลาย
เราย่อมบัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลายด้วย ย่อมบัญญัติความกำหนดรู้รูป เวทนาทั้งหลายด้วย เราเป็นผู้หายหิวแล้วดับแล้ว เย็นแล้ว ย่อมบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานในปัจจุบัน
อ่าน โกศลสูตรที่ ๑