ทวยตานุปัสสนาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสถึงประโยชน์อะไรของการฟังกุศลธรรมอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ว่ามีประโยชน์เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง แล้วทรงกล่าวถึงธรรม ๒ อย่าง โดยปริยายต่าง ๆ
การพิจารณาเห็นธรรม ๒ อย่าง เนือง ๆ ว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย ๑
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๒
ชนเหล่าใดรู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง และรู้มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้น ถึงพร้อมแล้วด้วยเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ เป็นผู้ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะอุปธิปัจจัย ๑
เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ผู้ใดไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์เนือง ๆ ทราบชัดอยู่ ไม่พึงทำอุปธิ
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ๑
เพราะอวิชชานั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
อวิชชาเป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสงสาร อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อย ๆ อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะสังขารเป็นปัจจัย ๑
เพราะสังขารทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะความสงบแห่งสังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับ ความสิ้นไปแห่งทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุรู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดยถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ๑
เพราะวิญญาณนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยดังนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้วเพราะความเข้าไปสงบแห่งวิญญาณ
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ๑
เพราะผัสสะนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ของชนทั้งหลายผู้อันผัสสะครอบงำแล้ว ผู้แล่นไปตามกระแสแห่งภวตัณหา ผู้ดำเนินไปแล้วสู่หนทางผิด ย่อมอยู่ห่างไกล ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้ผัสสะด้วยปัญญา ยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไปสงบ ชนเหล่านั้น เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะการดับไปแห่งผัสสะ
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ๑
เพราะเวทนานั่นเองดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุรู้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา มีความทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา ถูกต้องด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว เห็นความเสื่อมไปอยู่ ย่อมรู้แจ่มแจ้งความเป็นทุกข์ในเวทนานั้นอย่างนี้ เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั้นเองทุกข์จึงไม่เกิด
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ๑
เพราะตัณหานั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นผู้มีตัณหาปราศจากไปแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ๑
เพราะอุปาทานนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภพย่อมมีเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย สัตว์ผู้เกิดแล้วย่อมเข้าถึงทุกข์ ต้องตาย นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้แล้วโดยชอบ รู้ยิ่งความสิ้นไปแห่งชาติแล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทาน
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย ๑
เพราะการริเริ่มนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความริเริ่มเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว สละคืนความริเริ่มได้ทั้งหมดแล้ว น้อมไปในนิพพานที่ไม่มีความริเริ่ม ถอนภวตัณหาขึ้นได้แล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะอาหารเป็นปัจจัย ๑
เพราะอาหารทั้งหมดนั่นเองดับ เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ถึงเวทย์ รู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย ดังนี้แล้ว กำหนดรู้อาหารทั้งปวง เป็นผู้อันตัณหาไม่อาศัยในอาหารทั้งหมด รู้โดยชอบซึ่งนิพพานอันไม่มีโรค พิจารณาแล้วเสพปัจจัย ๔ ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะอาสวะทั้งหลายหมดสิ้นไป
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดย่อมเกิดขึ้น เพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย ๑
เพราะความหวั่นไหวทั้งหลายนั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด ๒
ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหวั่นไหวเป็นปัจจัย ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุสละตัณหาแล้ว ดับสังขารทั้งหลายได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความหวั่นไหว ไม่ถือมั่น แต่นั้นพึงเว้นรอบ
ความดิ้นรนย่อมมีแก่ผู้อันตัณหา ทิฐิ และมานะอาศัยแล้ว ๑
ผู้ที่ตัณหา ทิฐิ และมานะไม่อาศัยแล้ว ย่อมไม่ดิ้นรน ๒
ภิกษุรู้โทษนี้ว่าเป็นภัยใหญ่ในเพราะนิสสัย คือ ตัณหา ทิฐิและมานะทั้งหลายแล้ว เป็นผู้อันตัณหา ทิฐิและมานะ ไม่อาศัยแล้ว ไม่ถือมั่น มีสติ พึงเว้นรอบ
อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ ๑
นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ ๒
สัตว์เหล่าใดผู้เข้าถึงรูปภพ และตั้งอยู่ในอรูปภพ สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้ชัดซึ่งนิพพานก็ยังเป็นผู้จะต้องมาสู่ภพใหม่ ส่วนชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปภพแล้ว (ไม่) ดำรงอยู่ด้วยดีในอรูปภพ ชนเหล่านั้นน้อมไปในนิพพานทีเดียว เป็นผู้ละมัจจุเสียได้
นามรูป ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เล็งเห็นว่า นามรูปนี้เป็นของจริง พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นามรูปนั่นเป็นของเท็จ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑
นิพพาน ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เล็งเห็นว่า นิพพานนี้เป็นของเท็จ พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้ว ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นิพพานนั้นเป็นของจริง นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒
ท่านผู้มีความสำคัญในนามรูป อันเป็นของมิใช่ตนว่าเป็นตน จงดูโลกพร้อมทั้งเทวโลก ผู้ยึดมั่นแล้วในนามรูป ซึ่งสำคัญนามรูปนี้ว่า เป็นของจริง ก็ชนทั้งหลายย่อมสำคัญ (นามรูป) ด้วยอาการใด ๆ นามรูปนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นไปจากอาการที่เขาสำคัญนั้น ๆ นามรูปของผู้นั้นแล เป็นของเท็จ เพราะนามรูป มีความสาปสูญไปเป็นธรรมดา
นิพพานมีความไม่สาปสูญไปเป็นธรรมดา พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้นิพพานนั้นโดยความเป็นจริง พระอริยเจ้าเหล่านั้นแล เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว เพราะตรัสรู้ของจริง
อิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่ายินดี) ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่าเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นทุกข์ นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๑
นิพพาน ที่โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เล็งเห็นว่า นี้เป็นทุกข์ พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นด้วยดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นสุข นี้เป็นอนุปัสสนาข้อที่ ๒
รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีประมาณเท่าใด โลกกล่าวว่ามีอยู่ อารมณ์ ๖ อย่างเหล่านี้ โลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่ว่าธรรมเป็นที่ดับอารมณ์ ๖ อย่างนี้ ชนเหล่านั้นสมมติกันว่าเป็นทุกข์ ความดับแห่งเบญจขันธ์พระอริยะเจ้าทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข
ความเห็นขัดแย้งกันกับโลกทั้งปวงนี้ ย่อมมีแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นอยู่
ชนเหล่าอื่นกล่าววัตถุกามใดโดยความเป็นสุข พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าววัตถุกามนั้นโดยความเป็นทุกข์ ชนเหล่าอื่นกล่าวนิพพานใดโดยความเป็นทุกข์ พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งกล่าวนิพพานนั้นโดยความเป็นสุข
ท่านจงพิจารณาธรรมที่รู้ได้ยากชนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้แจ้ง พากันลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้ ความมืดตื้อย่อมมีแก่ชนพาลทั้งหลายผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ผู้ไม่เห็นอยู่ ส่วนนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผยแก่สัตบุรุษผู้เห็นอยู่ เหมือนอย่างแสงสว่าง ฉะนั้น
ชนทั้งหลายเป็นผู้ค้นคว้า ไม่ฉลาดต่อธรรม ย่อมไม่รู้แจ้งนิพพานที่มีอยู่ในที่ใกล้ ชนทั้งหลายผู้ถูกภวราคะครอบงำแล้ว แล่นไปตามกระแสภวตัณหา ผู้เข้าถึงวัฏฏะอันเป็นบ่วงแห่งมารเนือง ๆ ไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ได้โดยง่าย
นอกจากพระอริยเจ้าทั้งหลาย ใครหนอย่อมควรจะรู้บท คือ นิพพานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ดีแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีอาสวะเพราะรู้โดยชอบ ย่อมปรินิพพาน
ผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
อ่าน ทวยตานุปัสสนาสูตร