จะช่วยคนที่เสีย self อย่างไร
กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ รู้สึกสงสารพี่เขามาก ความคิดเห็นไม่เป็นที่ยอมรับ จนเสีย self ไปเลย จะช่วยเขาอย่างไรได้บ้างไหมคะ
ถามสั้น ๆ แต่เป็นสามประเด็นใหญ่นะ ๑) ความคิดเห็นไม่เป็นที่ยอมรับ ๒) เสีย self ๓) จึงสงสาร
จะช่วยให้ดีขึ้นได้ไหม
โอ ปัญหานี้มนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกยุคนี้ประสบกัน ดังนั้นจะพยายามตอบให้ละเอียดหน่อย เผื่อคนอื่น ๆ จะได้เอาไปใช้ได้ด้วย
ประเด็นที่หนึ่ง ความคิดเห็นไม่เป็นที่ยอมรับ
นั่นเป็นความถูกต้องดีงามแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนในกาลามสูตรว่า จงอย่าเชื่อเพราะตรึกตามตรรก (คิดตามเหตุผล) จงอย่าเชื่อเพราะการอนุมาน (คิดปะติดปะต่อ) จงอย่าเชื่อเพราะอาการที่แสดงออก (คิดพิเคราะห์อาการว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น) จงอย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (คิดเข้าข้างระบบความคิดเดิม)
นั่นแสดงว่า ความคิดเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ไม่ว่าจะคิดเก่งแค่ไหนก็ตาม
เพราะอะไรความคิดจึงเชื่อถือไม่ได้
1. ความคิดเป็นสังขาร เกิดจากอวิชชาโดยตรง จำได้ไหมปฏิจจสมุปบาท เพราะอวิชชามี สังขารจึงมี เมื่อความคิดเป็นลูกของอวิชชา ความคิดจึงเป็นลูกของความไม่รู้และความรู้ผิดตรง ๆ
2. ความคิดเป็นอุทธัจจะ เป็นนิวรณ์กิเลส ยิ่งคิดมากความฟุ้งซ่านก็มาก ยิ่งฟุ้งซ่านมากก็ยิ่งห่างไกลสมาธิมาก ยิ่งไม่มีสมาธิก็ยิ่งไร้ปัญญาญาณ
3. ความคิดเป็นบ่อเกิดแห่งอารมณ์ มีอารมณ์มากก็เสียสติมาก (เครื่องกั้นพัง) ยิ่งเสียสติก็ยิ่งขาดปัญญา ยิ่งมากด้วยอารมณ์อย่างไร้สติปัญญาก็ยิ่งบ้ามาก
4. ความคิดเป็นเหตุแห่งความบ้าทิฏฐิ คือการยึดว่าอย่างนี้เท่านั้นถูกอย่างอื่นผิด ความบ้าทิฏฐิสร้างหายนะให้แก่โลกและชีวิตมาแล้วนักต่อนัก เช่น
แนวคิดแบบทุนนิยมกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ต่างยึดว่าอย่างนี้เท่านั้นถูกอย่างอื่นผิด ต่างไม่ยอมกัน เกิดสงครามปฏิวัติ สงครามกวาดล้างคอมมิวนิสต์ และสงครามเย็นมาหลายสิบปี คนตายไปหลายสิบล้านคน บาปมหาศาลเกิดขึ้นในโลก เพียงเพราะบ้าทิฏฐิยึดถือความคิดเห็น
แม้ปัจจุบันแนวคิดแบบอำนาจรวมศูนย์กับแนวคิดเสรีนิยมก็กำลังทะเลาะกันอยู่ทั่วโลก มีสงครามตัวแทนหลายแห่งในโลก และจะกลายเป็นสงครามใหญ่ที่สร้างความเสียหายมาก บาปมหาศาลจักเกิดขึ้นในโลกเพราะบ้าความคิด (ทิฏฐิ) เป็นเหตุ
ทั้งหมดนี้เป็นผลผลิตของการบ้าความคิด ซึ่งสร้างภัยใหญ่ให้ชีวิต และโลก
เราจึงต้องกรองความคิด กลั่นความคิดหลายชั้นเพื่อจะหาความคิดที่พอใช้ได้
การกรองและการกลั่นความคิด
เราสามารถกรองความคิดได้ด้วยหลักกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ทรงสอนแล้ว คือ จงอย่าเชื่อเพราะตรึกตามตรรก (คิดตามเหตุผล) จงอย่าเชื่อเพราะการอนุมาน (คิดปะติดปะต่อ) จงอย่าเชื่อเพราะอาการที่แสดงออก (คิดพิเคราะห์อาการว่าน่าเชื่อ) จงอย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน (คิดเข้าข้างระบบความคิดเดิม)
เมื่อกรองแล้ว จะเหลือความคิดที่พอใช้ได้น้อยมาก ก็ต้องเอามากลั่นอีกด้วยหลักแห่งผลดีต่อเนื่อง ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนท่านพระราหุลว่า ๑) ความคิดใดให้ผลเป็นความสุขแก่ตนแก่ท่านทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความคิดนั้น ควรคิด ๒) ความคิดใดให้ผลเป็นโทษทุกข์แก่ตนแก่ท่านทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความคิดนั้น ไม่ควรคิด นี่คือการกลั่นความคิด
พอกรองกลั่นดีแล้ว จะเหลือความคิดน้อยนิดที่ใช้ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ปราศจากความบ้าและสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ จึงเอามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เอาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์สุขแท้จริงต่อประชาชนและประเทศของทุกระบอบมารวมกัน สร้างเป็นระบบการปกครองของตนเอง เรียกว่ารัฐสวัสดิการ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองและสงบสุขมาก
กระนั้น แม้จะกรองกลั่นความคิดจนดีแสนดี ความคิดก็ให้ความรู้แค่ระดับกลาง คือ จินตามยปัญญา ยังเหนื่อยมากได้ผลน้อย และยังเกิด error ได้ เช่นพ่อแม่หวังดีต่อลูก คิดเพื่อประโยชน์สุขของลูกล้วน ๆ แต่ก็ยังสุขระคนทุกข์เพราะเหตุแห่งความคิดนั้น ลูกที่รับความคิดดีหวังดีจากพ่อแม่ก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ยินดีบ้าง อึดอัดบ้าง ยอมทำตามบ้าง ดื้อรั้นบ้าง แม้จะคิดดีแท้จริง ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นได้อีก นักปฏิบัติชั้นสูงจึงไม่ใช้ระบบความคิดกัน
ถ้าไม่ใช้ความคิดแล้วจะใช้อะไร
นักปฏิบัติชั้นสูงจะใช้ญาณกัน เพราะญาณเป็นภาวนามยปัญญา เป็นทิพย์ เป็นผลของสติบริสุทธิ์ สมาธิบริบูรณ์ มีความเที่ยงตรงแม่นยำกว่า พอเหมาะพอดีกว่า ทำน้อยได้ผลมากกว่า และง่ายกว่าเร็วกว่าระบบความคิดแบบฟ้ากับดินเลย
ดังนั้น คนคิดมาก คือคนโง่มาก อารมณ์มาก บ้ามาก สร้างบาปกรรมต่อเนื่องมาก ผิดพลาดมาก การที่ไม่มีใครยอมรับความคิดเห็น จึงเป็นการถูกต้องดีงามแล้ว ใครยอมรับก็พลอยโง่ไปด้วย บ้าไปด้วย มีกรรมร่วมไปด้วย
ถ้าไม่มีภาวนามยปัญญาจะทำอย่างไรดี
1. ไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมา เราเสียเวลาในชีวิตเท่าไหร่ไปเรียนเอาความรู้ที่ตื้นเขินและปนเปื้อนจากระบบความคิด ถ้าเราใช้เวลาเท่ากันนั้นมาเจริญ ศีล สติ สมาธิ ปัญญาญาณ ก็จะประสบความสำเร็จ เพราะญาณเหล่านี้เป็นวิชชาสำหรับมนุษย์ มนุษย์จึงมีสิทธิ์ได้ เพียงต้องปฏิบัติให้จริงจังและถูกวิธีเท่านั้น โดยวางระบบความคิด แล้วมาใช้ระบบ "รู้" แห่งจิตแทน
2. ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติอยู่ ยังไม่ค่อยได้ผลนัก ก็อย่าต้องการให้ใครยอมรับความคิดของตนเป็นอันขาด เพราะจะผิดหวังเป็นส่วนใหญ่ แม้จะสมหวังบ้าง ก็ได้แต่คนที่โง่ยึดถือความคิดเห็นยอมรับ อวยกันไปมา ไม่ได้พัฒนาระบบปัญญาของตนและของคนอื่นให้ดีขึ้นเลย ยังจมอยู่ในอารมณ์และความบ้า และเมื่อเจอคนที่บ้าพอกัน หรือบ้ายิ่งกว่า ก็จะเกิดสงครามนานาประการขึ้นมา หายนะเปล่า ๆ ปลี้ ๆ
3. คิดเก่งก็ไม่ดี ญาณก็ยังไม่ได้ แต่ยังต้องทำงาน และอยู่ในสังคม จะทำอย่างไร ง่ายมาก มองทุกอย่างให้เป็นสัจธรรม พูดให้เป็นสัจธรรม บริหารตามสัจธรรมล้วน ๆ เห็น พูด ทำทุกอย่างตามอริยสัจก็เยี่ยม ตามสัมมัตตะสิบก็ยอด ตามมงคลแห่งชีวิตก็บริบูรณ์
ประเด็นที่สอง เสีย self
Self หรืออัตตานี่เป็นภวตัณหา มีอุปาทานเป็นตัวยึดโยงสะสม มีมานะเป็นอาการ มีความบ้านานาเป็นอารมณ์ มีกรรมชั่วร้ายเป็นผล หมักหมมเป็นสวะอยู่ในใจ เรียกว่า ภวาสวะ ทำให้จิตสกปรก ปิดกั้นปัญญาและความสงบสุขโดยตรง ซึ่งเราต้องทำลาย ดับให้สลายไปอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าเสีย self ก็ Sadhu Sadhu รีบโยนทิ้งไปเลย ไม่ต้องพยายามซ่อมมันนะ ก็มันมีผลเป็นทุกข์จะไปเก็บไว้ทำไม ตอนอวิชชาปรุงแต่งบรรเจิด เราอาจจะเห็นพิษภัยไม่ชัด เพราะถูกความหวังหลอก ตอนเสีย self นี่แหละจะเห็นโทษมันชัด สมควรหรือที่จะเก็บสวะนี้ไว้ในใจอีก
หลวงปู่มั่นบอกว่า "ใจเราไม่ทุกข์หรอก กิเลสต่างหากที่เดือดร้อน" ดังนั้น เมื่อเห็นอาสวะกิเลสชัด ก็จัดการรื้อ self ทิ้งโดยเร็ว จัดการได้ ก็จะกลายเป็นคนใหม่ สู่มิติแห่งจิตใหม่ ที่หมดจดกว่า ดีกว่าเดิมแน่นอน
ประเด็นที่สาม สงสาร สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ไหม
ทิฏฐาสวะก็ตาม ภวาสวะก็ตาม เป็นมะเร็งจิต สะสมไว้ก็เป็นสวะในใจ ปิดโอกาสบรรลุธรรม หากเก็บไว้ ระบบความสุข ระบบธรรม ระบบกรรมจะป่วยแล้วป่วยอีกหลายชาติ
ดังนั้น หากช่วยด้วยการปลอบประโลม เข้าข้าง อี๋อ๋อ เท่ากับเป็นการเลี้ยงมะเร็งจิตให้เจริญเติบโต ยิ่งอันตราย
หากช่วยด้วยการวางเฉย เท่ากับปล่อยไปตามยถากรรม ให้เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เจ็บปวดครั้งแล้วครั้งเล่าจนเบื่อหน่าย และพยายามออกจากทุกข์ด้วยตนเอง ก็ดี ถ้าเขามีปัญญาพอและมีบุญส่ง ถ้าไม่มี ก็เสี่ยงที่แพร่ระบาดกิเลสนั่นให้คนอื่น ทำโลกที่วุ่นวายอยู่แล้วให้วิบัติมากขึ้น
หากช่วยด้วยการลงโทษให้หลาบจำ ไล่ออก ชีวิตจิตใจของเขาจักทรุดฮวบฮาบ อาจเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจก้าวร้าว พยศประชดประชัน สร้างความเสียหายให้ตัวเองอีกมาก การไล่ออก พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ใช้กับคนที่ไม่ยอมแก้ไขตัวเองเท่านั้น
หากช่วยแบบพระอรหันต์ เช่นสมัยหนึ่ง มีพระปริยัติเป็นมหาเปรียญที่หลงความรู้ความคิดของตนไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น อยู่ไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีความคิดว่า หลวงปู่มั่นไม่ได้ศึกษาปริยัติเลย พูดจาคนละระบบกับที่เราเรียนมาเลย จะใช้ได้หรอเนี่ย เราเป็นมหาเปรียญ ทำไมจะต้องมาเสียเวลากับพระอย่างนี้ด้วย
อีกไม่กี่นาทีต่อมา หลวงปู่มั่นเดินมาที่กุฏิพระองค์นั้น เรียกพระองค์นั้น
พระขานรับแล้ว
หลวงปู่มั่นจึงบอกว่า การที่ท่านถือทิฏฐิมานะในความรู้ของตน แล้วปรามาสครูบาอาจารย์อย่างนั้น เป็นบาป จะทำให้ท่านเดือดร้อนมาก
พระองค์นั้นรีบออกมากราบหลวงปู่มั่น กลัวหัวหด จากนั้นก็จ๋องเสียความเชื่อมั่นในตนเลย และตั้งใจควบคุมความคิด และพยายามกำจัดทิฏฐิมานะออกให้ได้ จนในที่สุดก็สำเร็จอรหันต์ เป็นครูบาอาจารย์ทางธรรมที่ทรงค่าอีกท่านหนึ่งในยุคกึ่งพุทธกาล
หลวงปู่มั่นช่วยด้วยการกำราบกิเลส ป้องกันผลกรรมร้าย และกำกับให้พระท่านนั้นเอาทิฏฐิมานะออก การช่วยอย่างนี้ เป็นการช่วยผ่าตัดจิตใจ ทำให้โรคอาสวะกิเลสหายขาด ได้ผลถาวร ทั้งได้พระอรหันต์ปูชนียบุคคลสืบพระศาสนาเพิ่มขึ้นในโลกอีกหนึ่งท่าน
พิจารณาดู จะช่วยแบบไหนดีที่สุดต่อตน ต่อท่าน ต่อส่วนรวม ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต
โดยสรุป
จำไว้ สังคมธรรมชน ท่านบูชาความบริสุทธิ์ เคารพธรรม ยกย่องผู้มีศีลหมดจด สมาธิตั้งมั่น ปัญญาญาณเที่ยงตรง ไม่ได้เคารพ ยกย่อง บูชา ความคิด (ทิฏฐิ) และ self (มานะ) ของใคร หนำซ้ำเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมรังเกียจด้วยซ้ำ ดังนั้น พัฒนาตนให้ถูก value จึงจะเป็นคนมีคุณต่อตนเองและผู้อื่นแท้จริง มีค่า เป็นที่ยอมรับ