Main navigation

อุเบกขากับอทุกขมสุขเวทนาเป็นสิ่งเดียวกันไหม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ ผมศึกษาพระสูตรมาก่อนแล้วมาศึกษาอภิธรรม แล้วเกิดข้อสงสัยครับ อุเบกขากับอทุกขมสุขเวทนาเป็นสิ่งเดียวกันไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ที่ถามเช่นนี้ แสดงว่าหลักกาลามสูตรแข็งแรงมาก ดี

ก่อนอื่นเข้าใจหลักธรรมก่อนว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

1. เมื่อใดมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เมื่อนั้นสุขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่เกิดขึ้น

2. เมื่อใดมีสุขเวทนาเกิดขึ้น เมื่อนั้นทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่เกิดขึ้น

3. เมื่อใดมีอทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น เมื่อนั้นทุกขเวทนา และสุขเวทนาย่อมไม่เกิดขึ้น

จำหลักตรงนี้ไว้ให้ดีนะ


จากนั้น มาพิจารณาสภาวะในสมาธิลอกขันธ์เลยจะเข้าใจง่าย

ฌาน ๑ ดับนิวรณ์ (ภาวะที่ทำให้กายกระสับกระส่าย = ทุกข์กาย) มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เกิดขึ้น (สภาวะที่ทำให้สบายกาย) 

ฌาน ๒ ดับวิตกวิจาร (ภาวะที่ทำให้สบายกาย) มีปีติ สุข เอกัคคตา เกิดขึ้น (สภาวะที่ทำให้พอใจ) 

ฌาน ๓ ดับปีติ (ภาวะที่ทำให้ใจกระเพื่อม = ทุกข์ใจละเอียด) มีสุข เอกัคคตา และอุเบกขาตั้งมั่น อยู่เป็นสุขด้วยนามกายเกิดขึ้น (สภาวะที่ทำให้สุขใจ) 

ฌาน ๔ ดับสุข (ภาวะที่ทำให้สุขใจ) มีอุเบกขา และสติบริสุทธิ์รู้ตั้งมั่นอยู่

โดยย่อ

ฌาน ๑ ดับทุกขเวทนาทางกาย มาเป็นสุขทางกาย

ฌาน ๒ ดับสุขเวทนาทางกาย มาเป็นสุขทางใจ (แต่ยังกระเพื่อมอยู่เพราะปีติ)

ฌาน ๓ ดับทุกขเวทนาทางใจ มาเป็นสุขทางใจ และอุเบกขา กอปรสุขในนามกาย (อุเบกขาอยู่กับสุขทางใจ และสุขในนามกายได้)

ฌาน ๔ ดับสุขเวทนาทางใจ เหลือแต่อุเบกขา และสติบริสุทธิ์แล้ว แลอยู่ (เห็นสัจธรรมอยู่)

ธรรมวินิจฉัย

ให้สังเกตุดูฌาน ๓ มีสุข และอุเบกขาอยู่ด้วยกัน นั่นแสดงว่า อุเบกขาไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนา เพราะอทุกขมสุขเวทนาจะเกิดพร้อมสุขเวทนาไม่ได้

อ้าวแล้ว อทุกขมสุขเวทนาอยู่ที่ไหน

พอเข้าฌาน ๔ เหลือแต่อุเบกขา และสติบริสุทธิ์  ตรงนี้แหละที่มีอทุกขมสุขเวทนาซ้อนอยู่ กระนั้น อุเบกขาก็เป็นอย่างหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาก็เป็นอย่างหนึ่ง เพียงแต่อยู่ด้วยกันไปจนถึงฌาน ๘ 

เพราะเหตุที่อุเบกขาและอทุกขมสุขเวทนาอยู่ด้วยกันได้ ชนจำนวนมากจึงโมเมไปว่า อุเบกขาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นสิ่งเดียวกัน แต่โดยความเป็นจริงแห่งองค์ธรรม สภาวธรรม และกิจ อุเบกขาและอทุกขมสุขเวทนา เป็นคนละสิ่งกัน

ความต่างระหว่างอุเบกขาและอทุกขมสุขเวทนา

1. อุเบกขาเป็นสภาวะจิตที่ฐานมโน (ใจ)

อทุกขมสุขเวทนา เป็นหนึ่งในธรรมธาตุ (เวทนา สัญญา สังขาร) ที่มากระทบมนายตนะ

2. อุเบกขาอยู่กับสุขได้ เช่น ฌาน ๓ อยู่กับทุกข์ก็ได้ เช่น วิปากจิตสหรคตด้วยอุเบกขา จิตสงบยามเจ็บป่วยและยามใกล้ตาย

อทุกขมสุขเวทนาอยู่กับสุขไม่ได้ อยู่กับทุกข์ไม่ได้

3. อุเบกขา สภาวะจิตสงบ ผ่องใส

อทุกขมสุขเวทนา สภาวะจิตเฉย ๆ ทึ่ม

4. อุเบกขา (อุปะ + อิขะ = เข้าไปเห็น) ก่อให้เกิดปัญญา

อทุกขมสุขเวทนา (รู้สึกเฉย ๆ แต่ไม่เห็น) ก่อให้เกิดโมหะ ด้วยเหตุนี้ ฌาน ๔ - ฌาน ๘ จึงยังไม่ใช่นิพพาน เพราะยังมีโมหะระคนอยู่ จึงยังเสื่อมได้ 

กระนั้น อุเบกขาก็ยังไม่ใช่นิพพาน เมื่ออุเบกขาก่อให้เกิดปัญญาแล้ว ต้องให้ปัญญาทำงานประเมินสัจธรรมแห่งความมีอยู่ทั้งปวง แล้ววิราคะสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตนออกให้หมด วิราคะเด็ดขาดแล้ว ก็ได้วิมุตติ

5. อุเบกขาเป็นฐานจำเป็นสู่การบรรลุธรรม

ในสัมโพชฌงค์ก็ต้องปฏิบัติจนถึง อุเบกขาสัมโพชฌงค์

ในสัมมาสมาธิก็ต้องปฏิบัติจนถึง อุเบกขาฌาน

ในวิปัสสนาญาณก็ต้องปฏิบัติจนถึง สังขารุเปกขาญาณ

ใน ปัญจกังคสูตร (ฉบับหลวง เล่ม ๑๘ น. ๒๓๗-๒๔๓) พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายอุเบกขาฌานว่า มีรสเป็น "สุขสภาวะแห่งจิตหมดจด (สุขสภาวะไม่ใช่สุขเวทนา)" ปรากฏเมื่อจิตอยู่กับจิตเอง เป็นฐานที่ดีสู่การบรรลุธรรม (อย่าลืม องค์ธรรมในฌาน อุเบกขากับสุขอยู่ด้วยกันได้)

และใน นิพพานสูตร (ฉบับหลวง เล่ม ๒๓ น. ๑๔) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุขหมดจดเมื่อทำงานร่วมกับปัญญา ดับอาสวะได้ ย่อมนำสู่เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ และพระนิพพาน

ส่วนอทุกขมสุขเวทนา รวมทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา เกิดจากผัสสะ ดับไปเพราะผัสสะดับ ไม่เป็นฐานสู่การบรรลุธรรมใด ๆ ควรสละเสีย

 

วิธีรู้แจ้งด้วยตนเอง

ปฏิบัติให้ได้ผลทุกสภาวะที่พระพุทธองค์ทรงสอนแล้ว แล้วจะแจ่มแจ้งด้วยจิตเอง ไม่ต้องเชื่อใครอีก ยกเว้นผู้ที่ทำให้เราบรรลุธรรม มีพระพุทธองค์ทรงเป็นประธาน

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง :

อุเบกขา เวทนา สภาวะ ความสุข