Main navigation

มหาเวทัลลสูตร

ว่าด้วย
การสนทนาให้เกิดปัญญา สูตรใหญ่
เหตุการณ์
พระมหาโกฏฐิกะสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ปัญญากับวิญญาณ

บุคคลผู้มีปัญญาทรามคือ บุคคลที่ไม่รู้ชัดในทุกข์  ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

บุคคลผู้มีปัญญาคือบุคคลที่รู้ชัดในทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

วิญญาณคือธรรมชาติที่รู้แจ้งว่า นี้สุข นี้ทุกข์ นี้ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข

ปัญญาและวิญญาณ ธรรม ๒ ประการนี้ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ไม่อาจแยกออกแล้วบัญญัติหน้าที่ที่ต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น วิญญาณ รู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น แต่มีกิจที่จะพึงทำต่างกัน ปัญญาควรเจริญ วิญญาณควรกำหนดรู้

เวทนา สัญญา และวิญญาณ

เวทนาคือธรรมชาติที่รู้ รู้สุขบ้าง รู้ทุกข์บ้าง รู้สิ่งที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง

สัญญาคือ ธรรมชาติที่จำ

เวทนา สัญญา และวิญญาณ ปะปนกัน ไม่แยกจากกัน ไม่อาจแยกออกแล้ว บัญญัติหน้าที่อันต่างกันได้ เพราะเวทนารู้สิ่งใด สัญญาก็จำสิ่งนั้น สัญญาจำสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น

พระโยคาวจรมีมโนวิญญาณอันสละแล้ว อันบริสุทธิ์จากอินทรีย์ ๕ พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า อากาศหาที่สุดมิได้ พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า น้อยหนึ่งมิได้มี

ประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ

พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ

ปัญญามีความรู้ยิ่ง ความกำหนดรู้ ความละ เป็นประโยชน์

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ คือการได้ฟังบุคคลอื่น และการทำความทำในใจโดยแยบคาย

สัมมาทิฏฐิมีเจโตวิมุติและปัญญาวิมุตเป็นผล และมีผลคือเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติเป็นอานิสงส์ มีองค์ธรรม ๕ ประการ อนุเคราะห์แล้ว คือ

o สัมมาทิฏฐิอันศีลอนุเคราะห์แล้ว
o อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว
o อันสากัจฉาอนุเคราะห์แล้ว
o อันสมถะอนุเคราะห์แล้ว
o อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว

ภพและฌาน

ภพมี ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ความเกิดใหม่ในภพเกิดจากความยินดียิ่งในอารมณ์ ของสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกัน มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ

เมื่อสิ้นอวิชชา เมื่อวิชชาเกิด และตัณหาดับ ความเกิดในภพใหม่ในอนาคตจะไม่มี

ปฐมฌาน
o มีลักษณะคือ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข
o มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
o ละองค์ (นิวรณ์) ๕ คือ ฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน) อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

อินทรีย์ ๕ ชึวิต และสัญญาเวทยิตนิโรธ

อินทรีย์ ๕ ได้แก่ จักขุนทรีย์ ๑ โสตินทรีย์ ๑ ฆานินทรีย์ ๑ ชิวหินทรีย์ ๑ กายินทรีย์ มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับรู้วิสัยอันเป็นโคจรของกันและกัน

อินทรีย์ ๕ มีใจเป็นที่อาศัย  มีใจรับรู้วิสัยอันเป็นโคจรแห่งอินทรีย์ ๕ นั้น

อินทรีย์ ๕ ประการนี้อาศัย อายุ (ชีวิต) ในการตั้งอยู่  อายุ (ชีวิต) อาศัย อาศัยไออุ่น (ไฟที่เกิดแต่กรรม) ตั้งอยู่  ไออุ่น อาศัย อายุ (ชีวิต) ตั้งอยู่

อายุสังขาร (อายุ ชีวิตินทรีย์) กับเวทนียธรรม (เวทนา) ไม่ใช่อันเดียวกัน เพราะถ้าอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมเป็นคนละอย่าง การออกจากสมาบัติของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธจึงปรากฎอยู่

เมื่อธรรม ๓ ประการ คือ อายุ ไออุ่น และวิญญาณละกายไป กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนนิ่ง เหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา

สัตว์ผู้ตายทำกาละไป มีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขารดับระงับไป มีอายุหมดสิ้นไป มีไออุ่นสงบ มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมด มีไออุ่นยังไม่สงบ มีอินทรีย์ผ่องใส

เจโตวิมุติ

ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุขมี ๔ อย่าง
- บรรลุจตุตถฌาน
- ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์
- และดับโสมนัส โทมนัสได้
- มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ปัจจัยแห่งสมาบัติที่เป็นเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ
- การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
- การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑

ปัจจัยแห่งความตั้งอยู่ของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๓ อย่าง คือ
- การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
- การมนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑
- อภิสังขาร (ความกำหนดระยะกาล) ในเบื้องต้น ๑

ปัจจัยแห่งความออกของเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่างคือ
- การมนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
- การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุอันไม่มีนิมิต ๑

เจโตวิมุตติมีอารมณ์ ๔ อย่าง
- เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีประมาณ (อันหาประมาณมิได้)
- เจโตวิมุติมีอารมณ์ไม่มีอะไรๆ
- เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง
- เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต

เจโตวิมุตติทั้ง ๔ ต่างกันคือ

เจโตวิมุติมีอารมณ์อันหาประมาณมิได้ เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีจิตเปี่ยมไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันกว้างขวางหาประมาณไม่ได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปสู่โลกหมดทุกส่วน เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง

เจโตวิมุติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร ๆ เกิดขึ้นเมื่อบุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน บรรลุอากิญจัญญายตนฌานว่าน้อยหนึ่งมิได้มี ด้วยการมนสิการว่าไม่มีอะไร ๆ อยู่

เจโตวิมุติมีอารมณ์อันว่าง เกิดขึ้นเมื่อบุคคล พิจารณาเห็นว่า สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนเอง

เจโตวิมุติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต เกิดขึ้นเมื่อบุคคลบรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง

เจโตวิมุตติทั้งสี่เหมือนกันคือ

เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ ว่างจากราคะโทสะ โมหะ อันทำประมาณ อันเป็นเครื่องกังวล  อันทำนิมิต มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ เลิศกว่าเจโตวิมุตติมีอารมรณ์อันไม่ประมาณ เจโตวิมุตติมีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร ๆ เจโตวิมุตติมีอารมณ์อันว่า เจโตวิมุตติมีอารมณ์อันไม่มีนิมิต

 

อ่าน มหาเวทัลลสูตร

อ้างอิง
มหาเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๔๙๓-๕๐๔ หน้า ๓๗๙-๓๘๖
ลำดับที่
20

สถานที่

วิหารเชตวัน

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม