สุนักขัตตสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ในบรรดาเหล่านั้นผู้เข้าถึงอรหัตผลโดยชอบแท้ย่อมมี ผู้สำคัญตนผิดก็ย่อมมี ในภิกษุพวกที่พยากรณ์อรหัตผลด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุนั้น พระผู้พระภาคมีความดำริว่า จักแสดงธรรมแก่เธอ แต่ถ้ามีโมฆบุรุษคิดแต่งปัญหาเข้ามาถาม ความดำริว่า จักแสดงธรรมแก่เธอ ก็จะเป็นอย่างอื่นไป
แล้วทรงแสดงธรรมแก่พระสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรว่า
บุรุษผู้น้อมใจไปใน โลกามิส (กามคุณ ๕) ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่โลกามิสเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่โลกามิส คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับอาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น เป็นบุคคลผู้น้อมใจไปในโลกามิส
บุรุษผู้น้อมใจไปใน อาเนญชสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่อาเนญชสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่อาเนญชสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับโลกามิส ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น เป็นบุคคลผู้น้อมใจไปในอาเนญชสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในโลกามิส
บุรุษผู้น้อมใจไปใน อากิญจัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่อากิญจัญญายตนสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับอาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น เป็นบุคคลผู้น้อมใจไปในอากิญจัญญายตนสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในอาเนญชสมาบัติ
บุรุษผู้น้อมใจไปใน เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น เป็นบุคคลผู้น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
บุรุษผู้น้อมใจไปใน นิพพาน ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่นิพพานเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่นิพพาน คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น เป็นบุคคลผู้น้อมใจไปในนิพพาน พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ข้อที่ภิกษุบางรูปมีความดำริว่า เราละลูกศรคือตัณหาได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว เป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ แล้วประกอบเนืองๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพาน คือ การประกอบเนืองๆ ซึ่งรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ เสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต กลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ รสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา โผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วย มโน ราคะพึงตามกำจัดจิต
เมื่อประกอบเนืองๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพาน มีจิตถูกราคะตามกำจัดแล้ว เข้าถึงความตาย (ลักษณะที่ภิกษุบอกคืนสิกขา แล้วเวียนมาเพื่อเพศที่ต่ำช้า) หรือทุกข์ปางตาย (ลักษณะที่ภิกษุต้องอาบัติมัวหมองข้อใดข้อหนึ่ง)
เปรียบเหมือนบุรุษถูกลูกศรมียาพิษอาบไว้ หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จึงบอกว่า ลูกศรถูกถอนแล้ว โทษคือพิษถูกกำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว หมดอันตรายแล้ว และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และต้องชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลือง และเลือดรัดปากแผลได้ และอย่าเที่ยวตากลม ตากแดด เมื่อเที่ยวตากลม ตากแดด ก็อย่าให้ละอองและของโสโครกติดตาม ทำลายปากแผล ต้องคอยรักษาแผลอยู่จนกว่าแผลจะประสานกัน
บุรุษนั้นมีความ คิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษคือพิษ หมอก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง เมื่อบริโภคโภชนะ ที่แสลงอยู่ แผลก็กำเริบ และไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อไม่ชะแผลทุกเวลา ไม่ทายาสมานปากแผลทุกเวลา น้ำเหลือง และเลือดก็รัดปากแผล และเขาเที่ยวตากลม ตากแดดไปเนืองๆ เมื่อเที่ยวตากลม ตากแดดไปเนืองๆ แล้ว ปล่อยให้ละอองและของโสโครกติดตาม ทำลายปากแผลได้ ไม่คอยรักษาแผลอยู่ จนแผลประสานกันไม่ได้ เพราะเขาทำสิ่งที่แสลงนี้แล แผลจึงถึงความบวมได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ไม่กำจัดของไม่สะอาดและโทษคือพิษอันยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ เขามีแผลถึงความบวมแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตายได้
ข้อที่ภิกษุบางรูปมีความดำริว่า เราละลูกศรคือตัณหาได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว เป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้น คือ การไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพาน ราคะก็ไม่ตามกำจัดจิต มีจิตไม่ถูกราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย
เปรียบเหมือนบุรุษถูกลูกศรมียาพิษอาบไว้ หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จึงบอกว่า ลูกศรถูกถอนแล้ว โทษคือพิษถูกกำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว หมดอันตรายแล้ว และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และต้องชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลือง และเลือดรัดปากแผลได้ และอย่าเที่ยวตากลม ตากแดด เมื่อเที่ยวตากลม ตากแดด ก็อย่าให้ละอองและของโสโครกติดตาม ทำลายปากแผล ต้องคอยรักษาแผลอยู่จนกว่าแผลจะประสานกัน
บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษ คือพิษหมอก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย จึงบริโภคโภชนะที่สบาย เมื่อบริโภคโภชนะที่สบายอยู่ แผลก็ไม่กำเริบ และชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อเขาชะแผลทุกเวลา คอยรักษาแผลอยู่ จนแผลหายประสานกัน เพราะเขาทำสิ่งที่สบายนี้ แผลจึงหายได้ด้วย ๒ ประการ คือ กำจัดของไม่สะอาดและโทษคือพิษ จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เขามีแผลหาย ผิวหนังสนิทแล้ว จึงไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย
เนื้อความในอุปมานี้
คำว่าแผล เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖
โทษคือพิษ เป็นชื่อของ อวิชชา
ลูกศร เป็นชื่อของ ตัณหา
เครื่องตรวจ เป็นชื่อของ สติ
ศาตรา เป็นชื่อของ ปัญญาของพระอริยะ
หมอผ่าตัด เป็นชื่อของ ตถาคตผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว
ข้อที่ภิกษุนั้นทำความสำรวมในอายตนะอันเป็นที่กระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกายหรือปล่อยจิตไปในอุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
อ่าน สุนักขัตตสูตร