มหาอัสสปุรสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อประชาชนถามว่าภิกษุเป็นอะไร และภิกษุตอบว่าเป็นสมณะ ภิกษุควรศึกษาว่าจะสมาทานประพฤติธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ เป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ด้วย เมื่อภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ จึงได้ชื่อและปฏิญญาว่าเป็นสมณะจริง และเมื่อภิกษุบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก การบรรพชาของภิกษุ ก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ
ธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ และความเป็นพราหมณ์
ธรรมเป็นเครื่องทำความเป็นสมณะ และเป็นเครื่องทำความเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ
มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ และมีอาชีวะบริสุทธิ์ ปรากฏ เปิดเผย ไม่มีช่อง และคอยระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ และมีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น
เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ คือ เห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยโสต ดมกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือโดยนิมิต ไม่ถือโดยอนุพยัญชนะ จักปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำ ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในอินทรีย์
รู้จักประมาณในโภชนะ เมื่อกลืนอาหาร จักไม่กลืนเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตบแต่ง เพื่อประดับ จักกลืนเพียงเพื่อให้กายนั้นตั้งอยู่ ห่างไกลจากความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์เท่านั้น และจะบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และจักให้มีความดำเนินไป ความไม่มีโทษ ความอยู่สบาย
ประกอบเนือง ๆ ในความเป็นผู้ตื่น ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้นด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดวัน ตลอดปฐมยามแห่งราตรี และตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี และจักสำเร็จการนอนดังราชสีห์ โดยเบื้องขวาซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจถึงความสำคัญในการลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ทำความรู้สึกตัวในการก้าว ถอย แล เหลียว คู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ฉัน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง
พระผู้มีพระภาคได้เตือนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อสำเร็จกิจในแต่ละลำดับ ภิกษุไม่ควรคิดว่า ด้วยกิจเพียงเท่านั้น ก็พอแล้วทำเสร็จแล้ว ถึงแล้วซึ่งสามัญญัตถะ (คือ มรรค ผล นิพพาน) กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ภิกษุควรทำกิจในลำดับต่อไปให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้สามัญญัตถะไม่ได้เสื่อมไปเสีย
กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป คือ
ภิกษุย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อกลับจากบิณฑบาต ในการภายหลังแล้ว ให้นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ละความเพ่งเล็งในโลกแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้
ละความประทุษร้าย คือ พยาบาทแล้ว ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้
ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความสำคัญหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติ สัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้
ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้
อุปมานิวรณ์ ๕
เปรียบเหมือนผู้กู้หนี้ไปประกอบการงาน เมื่อการงานสำเร็จ ใช้หนี้ได้หมด และได้ทรัพย์ที่เป็นกำไรเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภรรยา เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ
เปรียบเหมือนผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย ต่อมา หายจากอาพาธ บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ
เปรียบเหมือนผู้ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ ต่อมา พ้นจากเรือนจำโดยสวัสดี ไม่มีภัย และไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ
เปรียบเหมือนทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ
เปรียบเหมือนผู้มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะเดินทางไกลกันดาร ต่อมา เขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้โดยสวัสดี ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ
ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม
ฌาน ๔
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
ภิกษุบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแก่วิเวกอยู่
ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
ภิกษุบรรลุตติยฌาน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข และทุกข์ และดับโสมนัสในก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ มีจิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแผ่ไปทั่วทั้งตัว
วิชชา ๓
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุย่อมโน้มจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนได้เป็นอันมากว่าเคยเกิดและอาศัยในกาลก่อนอย่างไร ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัลป์ วิวัฏฏกัลป์ สังวัฏฏวิวัฏฏกัลป์เป็นอันมากบ้าง พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ
ภิกษุย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้การจุติและอุบัติของของสัตว์ทั้งหลาย เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรมว่า หมู่สัตว์ผู้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หรือหมู่สัตว์ผู้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ อาสวะสมุทัย อาสวะนิโรธ อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้
สมัญญาแห่งภิกษุ
ภิกษุชื่อว่า สมณะ
ภิกษุนั้นระงับอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์
ภิกษุนั้นลอยอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
ภิกษุชื่อว่า นหาตกะ
ภิกษุนั้นอาบล้างอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
ภิกษุชื่อว่า เวทคู
ภิกษุนั้นรู้แจ้งอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
ภิกษุชื่อว่า โสตติยะ
ภิกษุนั้นให้อกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป หลับไปหมดแล้ว
ภิกษุชื่อว่าอริยะ
ภิกษุนั้นห่างไกลอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
ภิกษุชื่อว่าอรหันต์
ภิกษุนั้นกำจัดอกุศลธรรมอันลามก อันให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
อ่าน มหาอัสสปุรสูตร