Main navigation

จูฬทุกขักขันธสูตร

ว่าด้วย
กองทุกข์ สูตรเล็ก
เหตุการณ์
ณ นิโครธาราม กรุงบิลพัสดุ์ เจ้ามหานามศากยะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทรงถามถึงเหตุใดโลภธรรม โทสธรรม โมหธรรม ยังครอบงำจิตใจของพระองค์อยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องกามคุณ ๕ ประการ โทษแห่งกาม และความสุข

เจ้ามหานามกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าทรงเข้าใจข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็นอุปกิเลสแห่งจิต แต่โลภธรรม โทสธรรม และโมหธรรม ยังครอบงำจิตไว้ได้เป็นครั้งคราว ธรรมอะไรเล่าที่ยังทรงละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน โลภธรรม โทสธรรม โมหธรรม จึงยังครอบงำจิตของท่านไว้ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมนั้น ถ้าท่านละได้เด็ดขาดในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะท่านละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม

ถ้าอริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง แต่อริยสาวกนั้นเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น ก็จะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้

แต่เมื่อใด อริยสาวกเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามเป็นแท้

แม้เมื่อทรงยังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ ก็เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง พระองค์ก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศล ธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น พระองค์จึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามมิได้ แต่เมื่อใด พระองค์เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น พระองค์จึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม

คุณของกาม

กามคุณ ๕ ประการ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คือ

รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ
เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต
กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง ด้วยฆานะ
รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย

ความสุข ความโสมนัสใดอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

โทษของกาม

กองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น เป็นโทษของกามทั้งหลาย ได้แก่

กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ การนับคะแนนก็ดี การคำนวณก็ดี การนับจำนวนก็ดี การไถก็ดี การค้าขายก็ดี การเลี้ยงโคก็ดี การยิงธนูก็ดี การเป็นราชบุรุษก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว ความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ต้องตายด้วยความหิวกระหาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ถ้ากุลบุตรนั้น ขยัน พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ถ้ากุลบุตรนั้น ขยัน พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นสำเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัสที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด ทายาทอัปรีย์พึงนำไปไม่ได้ เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษา คุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี มารดาหรือบิดาก็วิวาทกันกับบุตร บุตรก็วิวาทกันกับมารดาหรือบิดา พี่น้องก็วิวาทกันกับพี่น้อง สหายก็วิวาทกันกับสหาย ชนเหล่านั้นถึงการทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกัน ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ หรือศาตรา ถึงความตายไปตรงนั้น ถึงทุกข์ปางตายบ้าง แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศร ถูกหอกแทงเอา ถูกดาบตัดศีรษะเสียในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้น ถึงทุกข์ปางตายบ้าง แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ฝูงชนถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพง ที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน ชนเหล่านั้น ต่างถูกลูกศรแทง ถูกหอกแทง ถูกรดด้วยโคมัยร้อน ถูกสับด้วยคราด ถูกตัดศีรษะด้วยดาบในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้น ถึงทุกข์ปางตายบ้าง แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ฝูงชนตัดที่ต่อ ปล้นกวาดล้าง กระทำการปล้นในเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทาง สมสู่ภรรยาคนอื่น พระราชาทั้งหลายจับคนนั้น ๆได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่าง ๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้หรือหวาย ตีด้วยไม้ค้อน รดด้วยน้ำมันที่ร้อน ให้สุนัขกัดกิน เสียบที่หลาวทั้งเป็น ใช้ดาบตัดศีรษะเสีย คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้น ถึงทุกข์ปางตายบ้าง แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย... เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

โทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

นิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตรเพื่อออกจากทุกข์

สมัยหนึ่งพระองค์อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พระองค์ได้ตรัสถามว่าเหตุใดพวกนิครนถ์จำนวนมากถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน อันเกิดแต่ความพยายาม

พวกนิครนถ์ตอบว่าเพราะชอบใจในคำกล่าวของนิครนถ์นาฏบุตรที่เป็นผู้รู้ธรรม เห็นธรรม ยืนยันญาณทัสสนะหมดทุกส่วนว่า เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรเดิน ยืน หลับ ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏอยู่ติดต่อเสมอไป

คำสอนของนิครนถ์นาฏบุตร

นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า บาปกรรมที่ทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ จงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาอันประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยากอันลำบาก ข้อที่ท่านทั้งหลายสำรวมกาย วาจา ใจในบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด

พระองค์จึงทรงถามว่า พวกนิครนถ์รู้หรือว่าตนได้มีแล้ว ได้ทำบาปกรรมแล้ว อย่างนี้ ๆ ในกาลก่อน รู้หรือว่าได้สลัดทุกข์ได้แล้ว ว่าต้องสลัดทุกข์เท่านี้ หรือสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว จะสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด หรือทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน

พวกนิครนถ์ตอบว่าไม่ทราบเลย

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งหลายที่บวชในสำนักของนิครนถ์ ก็เฉพาะแต่คนที่มีมรรยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์

พวกนิครนถ์จึงตอบว่า บุคคลมิใช่จะประสพความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะประสพสุขได้ด้วยความทุกข์ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารอยู่เป็นสุขกว่าพระผู้มีพระภาค

ผู้อยู่เป็นสุข

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบพวกนิครนถ์ว่า พวกนิครนถ์ควรถามพระผู้มีพระภาคในเรื่องสุขเรื่องทุกข์ว่า ระหว่างพระเจ้าพิมพิสารและพระผู้มีพระภาคใครอยู่สบายดีกว่ากัน

แล้วทรงถามพวกนิครนถ์ว่า พระเจ้าพิมพิสารสามารถไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดำรัส ทรงเสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน จนถึง ๗ คืน ๗ วัน ได้หรือ แล้วตรัสต่อไปว่า พระองค์ทรงทำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะอยู่สบายกว่ากัน

พวกนิครนถ์จึงกล่าวว่าพระผู้มีพระภาคอยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสาร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าศากยมหานามทรงมีพระทัยชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

 

 

อ่าน จูฬทุกขักขันธสูตร

อ้างอิง
จูฬทุกขักขันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๐๙-๒๒๐
ลำดับที่
7

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม