อากังเขยยสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ มีปาติโมกข์อันสมบูรณ์อยู่ จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า
๑. เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นผู้ควรยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
๒. เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
๓. เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเทวดาหรือมนุษย์เหล่าใด สักการะเหล่านั้นของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นพึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
๔. ญาติและสาโลหิตเหล่าใด ล่วงลับทำกาละไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงอยู่ ความระลึกถึงด้วยจิตอันเลื่อมใสของญาติและสาโลหิตเหล่านั้น พึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
๕. เราพึงเป็นผู้ข่มความไม่ยินดีและความยินดีได้ ความไม่ยินดีอย่าพึงครอบงำเราได้เลย ครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีอันเกิดขึ้นแล้วได้
๖. เราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ ความกลัวและความขลาดอย่าพึงครอบงำเราได้เลย พึงครอบงำย่ำยีความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้
๗. เราพึงเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเกิดขึ้นเพราะจิตยิ่ง เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา พึงได้ไม่ยาก ไม่ลำบาก
๘. เราพึงถูกต้องด้วยกายซึ่งวิโมกข์อันก้าวล่วงรูปาวจรฌานแล้ว เป็นธรรมไม่มีรูป สงบระงับอยู่
๙. เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ พึงเป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
๑๐. เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ ๓ เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นสภาพเบาบาง พึงมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียว แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
๑๑. เราพึงเป็นอุปปาติกสัตว์ เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ พึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น มีอันไม่กลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
๑๒. เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ พึงผุดขึ้น ดำลง แม้ในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ พึงเดินบน น้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
๑๓. เราพึงได้ยินเสียงทั้ง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์
๑๔. เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
๑๕. เราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ คือ พึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง... สิบชาติบ้าง... ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นมีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ ดังนี้
๑๖. เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้
๑๗. เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ภิกษุพึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร
แล้วทรงตรัสว่า
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันถึงพร้อม มีปาติโมกข์อันถึงพร้อมแล้วอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้ คำนั้น อันเราอาศัยอำนาจประโยชน์นี้ จึงได้กล่าวแล้ว ฉะนี้แล
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
อ่าน อากังเขยยสูตร