Main navigation

สคารวสูตร

ว่าด้วย
นิวรณ์เป็นปัจจัยให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง
เหตุการณ์
สคารวพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์ที่บุคคลกระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ สคารวพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เหตุให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง

สมัยใด บุคคล มีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นานก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดงอ่อน บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มีไอพลุ่งขึ้น บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่สาหร่ายและจอกแหนปกคลุมไว้ บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมพัดต้องแล้ว หวั่นไหว กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตม อันบุคคลวางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน

นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย

เหตุให้มนต์แจ่มแจ้ง

ส่วนสมัยใด บุคคล มีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานานย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันไม่ระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานานย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ไม่ร้อนเพราะไฟ ไม่เดือดพล่าน ไม่เกิดไอ บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายงตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานานย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันสาหร่ายและจอกแหนไม่ปกคลุมไว้ บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานานย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ อันลมไม่พัดต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดเป็นคลื่น บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

สมัยใด บุคคล มีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง

สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็นแม้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายตามความเป็นจริง มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานานย่อมแจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว อันบุคคลวางไว้ในที่แจ้ง บุรุษเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย

โพชฌงค์ทั้ง ๗ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ นี้ มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล คือ วิชชาและวิมุติ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สคารวพราหมณ์ได้กราบทูลสรรเสริญภาษิตของพระพุทธองค์แจ่มแจ้งนัก  เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน แล้วขอถึงพระพุทธองค์ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ขอเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

 

 

อ่าน สคารวสูตร

อ้างอิง
สคารวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๖๐๑-๖๐๒
ลำดับที่
20

สถานที่

นครสาวัตถี

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม