สีลสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อมด้วยวิมุติ ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ การได้เห็น ได้ฟัง การเข้าไปหา การเข้าไปนั่งใกล้ การระลึกถึง การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี มีอุปการะมาก
เพราะผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ ด้วยกาย ๑ ด้วยจิต ๑
โพชฌงค์
เมื่อภิกษุหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรม สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์เป็นอันปรารภแล้ว ย่อมชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด ภิกษุมีสติอยู่อย่างนั้น ย่อมเลือกเฟ้น ตรวจตรา ถึงความพินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นอันปรารภแล้ว ย่อมชื่อว่าเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด ภิกษุเลือกเฟ้น ตรวจตรา พินิจพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ความเพียรอันไม่ย่อหย่อนเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด ปีติที่ไม่มีอามิสเกิดแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด กายก็ดี จิตก็ดี ของภิกษุผู้มีใจกอปรด้วยปีติสงบระงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข ตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เพ่งดูจิตที่ตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นด้วยดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว ภิกษุย่อมชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์
อานิสงส์การเจริญโพชฌงค์
เมื่อโพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ผลานิสงส์ ๗ ประการ อันเธอพึงหวังได้ คือ
(๑) จะได้บรรลุอรหัตผลโดยพลัน ในปัจจุบัน
(๒) ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจจุบัน จะได้บรรลุในเวลาใกล้ตาย
(๓) ถ้าไม่ได้บรรลุอรหัตตผล จะได้เป็นพระอนาคามี อันตราปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๔) จะได้เป็นพระอนาคามี อุปหัจจปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๕) จะได้เป็นพระอนาคามี อสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๖) จะได้เป็นพระอนาคามี สสังขารปรินิพพายี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
(๗) จะได้เป็นพระอนาคามี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป
อ่าน สีลสูตร