ปุตตมังสสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อาหาร ๔ อย่าง เพื่อความดำรงอยู่ของสัตว์โลกที่เกิดมาแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิดอาหาร คือ
๑. กวฬีการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
๒. ผัสสาหาร (อาหารคือผัสสะ)
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร (อาหารคือการรู้แจ้งทางอายตนะ ๖)
กวฬีการาหาร
บุคคลควรเห็นกวฬีการาหารเช่นด้วยเนื้อบุตรที่บิดามารดาบริโภคเพื่อข้ามทางกันดาร มิใช่บริโภคด้วยความคะนอง ด้วยความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือเพื่อประดับประดาร่างกาย (บริโภคเบญจกามคุณเพื่อข้ามทางกันดารมิใช่ด้วยความคะนอง)
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬีการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ
เมื่อกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี
ผัสสาหาร
ภิกษุพึงเห็นผัสสาหารเหมือนอย่างแม่โคนมที่ไร้หนังหุ้มจะไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็ถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ กัดกินอยู่ร่ำไป (เวทนาทั้งปวงเป็นทุกข์)
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้
เมื่อกำหนดรู้เวทนาทั้งสามได้แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว
มโนสัญเจตนาหาร
ภิกษุพึงเห็นมโนสัญเจตนาหารเหมือนหลุมถ่านเพลิงที่บุรุษที่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์จะไปให้ไกลจากหลุมถ่านเพลิงนั้น เพราะรู้ว่าถ้าตกหลุกถ่านเพลิงนี้ จะต้องตายหรือถึงทุกข์แทบตาย อริยสาวกพึงเห็นมโนสัญเจตนาหารเช่นนั้น (หากมีความจงใจ (ตัณหา) จะทำให้ตายทุกข์แทบตาย)
เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้งสาม
เมื่อกำหนดรู้ตัณหาสามได้แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว
วิญญาณาหาร
ภิกษุพึงเห็นวิญญาณาหารเป็นอย่างโจรผู้กระทำผิดถูกโทษประหารด้วยหอกคราละร้อยเล่ม เช้า กลางวัน เย็น ตลอดวัน แต่ไม่ตาย (หากมีนามรูป ก็มีการรับรู้ทางอายตนะ ๖)
เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว
เมื่อกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว
อ่าน ปุตตมังสสูตร