Main navigation

สังคารวสูตร

ว่าด้วย
ปาฏิหาริย์ ๓
เหตุการณ์
สังคารวพราหมณ์เข้าไปเฝ้าและกราบทูลเรื่องปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญ อันมียัญเป็นเหตุ ปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญอันมีบรรพชาเป็นเหตุ พระพุทธเจ้าตรัสตอบ และแสดงเทศนาเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ สังคารวพราหมณ์รับฟังพระเทศนาจบแล้ว ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

สังคารวพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ผู้ที่บูชายัญเองและผู้ที่ใช้ให้คนอื่นบูชาทุกคน ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญ อันมียัญเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก ผู้บวชเป็นบรรพชิต ฝึกแต่คนเดียว ทำตนให้สงบแต่คนเดียว ทำแต่ตนให้ดับไปคนเดียว ผู้นั้นชื่อว่ามีปฏิปทาเป็นเหตุให้เกิดบุญอันมีบรรพชาเป็นเหตุ ซึ่งมีกำเนิดแต่สรีระอันเดียว

พระผู้มีพระภาคถามสังคารวพราหมณ์ว่า ถ้าเช่นนั้น พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้จำแนกธรรม ทรงแสดงธรรมให้ดำเนินไปแล้วตามมรรคนี้ ตามปฏิปทานี้ ทำธรรมอันยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ สอนประชาชนให้รู้ตาม ทั้งผู้อื่นต่างปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ก็ผู้แสดงและผู้ปฏิบัตินั้นมีมากกว่าร้อย มีมากกว่าพัน มีมากกว่าแสน ปุญปฏิปทาซึ่งมีบรรพชาเป็นเหตุนี้ มีกำเนิดแต่สรีระเดียว หรือย่อมจะมีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก

เมื่อสังคารวพราหมณ์กราบทูลว่าปุญปฏิปทาซึ่งมีบรรพชาเป็นเหตุนี้มีกำเนิดแต่สรีระเป็นอันมาก พระอานนท์ถามสังคารวพราหมณ์ว่า บรรดาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ สังคารวพราหมณ์ชอบใจปฏิปทาอย่างไหน ซึ่งมีความต้องการน้อยกว่า มีความริเริ่มน้อยกว่า แต่ว่ามีผลและอานิสงส์มากมาย

พระอานนท์ถามคำถามนี้ถึง ๓ ครั้ง สังคารวพราหมณ์ก็ตอบว่า ท่านพระโคดมฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ท่านทั้ง ๒ นี้ ตนควรบูชา ควรสรรเสริญ

พระอานนท์กล่าวว่า ท่านมิได้ถามสังคารวพราหมณ์ว่า ควรบูชาใคร หรือควรสรรเสริญใคร แต่ถามว่าบรรดาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ สังคารวพราหมณ์ชอบปฏิปทาอย่างไหน

พระผู้มีพระภาคเห็นว่าสังคารวพราหมณ์ถูกท่านพระอานนท์ถามปัญหาที่ชอบแล้ว นิ่งเสีย ไม่เฉลยถึง ๓ จึงช่วยเหลือ จึงได้ตรัสถามสังคารวพราหมณ์ว่า วันนี้ พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันขึ้นอย่างไร

สังคารวพราหมณ์กราบทูลว่า พวกที่มานั่งประชุมกันในราชบริษัทในราชสำนัก ได้พูดสนทนากันว่า เขาว่าเมื่อก่อนภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้มีน้อยมาก และอุตริมนุสธรรมมีมากมาย  แต่ทุกวันนี้ ภิกษุที่แสดงปาฏิหาริย์ได้มีมากมาย และอุตริมนุสธรรมมีน้อยมาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้  คือ

อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ๑ 
อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์ ๑ 
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ๑

อิทธิปาฏิหาริย์ คือ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอันมาก คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในไปอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ นี้เรียกว่า อิทธิปาฏิหาริย์

อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจได้โดยนิมิตว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย แต่ว่าพอได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่าใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้เลย แต่ว่าพอได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ย่อมพูดดักใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้ จิตของท่านเป็นแม้ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พูดดักใจโดยนิมิตไม่ได้เลย ถึงได้ยินเสียงมนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ถึงได้ยินเสียงวิตกวิจารของบุคคลผู้ตรึกตรองเข้าแล้ว ก็พูดดักใจไม่ได้ ก็แต่ว่ากำหนดรู้ใจของผู้ที่เข้าสมาธิ อันไม่มีวิตกวิจาร ด้วยใจของตนว่า ท่านผู้นี้ตั้งมโนสังขารไว้ด้วยประการใด จักตรึกวิตกชื่อโน้นในลำดับจิตนี้ด้วยประการนั้น

นี้เรียกว่าอาเทสนาปาฏิหาริย์

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ว่า จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้ อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่ นี้เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

แล้วตรัสถามสังคารวพราหมณ์ว่า ชอบปาฏิหาริย์อย่างไหน ซึ่งงามกว่าและประณีตกว่า

สังคารวพราหมณ์ กราบทูลว่า บรรดาปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนั้น

ผู้ใดแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นี้ได้ ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฏิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้ และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ตน เหมือนกับรูปลวง

ผู้ใดแสดงอาเทสนาปาฏิหาริย์นี้ได้ ผู้นั้นย่อมชอบใจปาฏิหาริย์นั้น ปาฏิหาริย์ที่ผู้ใดแสดงได้ และเป็นของผู้นั้นนี้ ย่อมปรากฏแก่ตน เหมือนกับรูปลวง

อนุสาสนีปาฏิหาริย์นี้ ควรแก่ตน ทั้งดีกว่าและประณีตกว่า และจะจำไว้ว่า ท่านพระโคดมประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ ไม่ใช่มีร้อยเดียว ไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้ มีอยู่มากมายทีเดียว

สังคารวพราหมณ์กล่าวสรรเสริญการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า และขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ และขอเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต

 

 

อ่าน สังคารวสูตร

 

 

อ้างอิง
สังคารวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๐ หน้า ๑๖๒-๑๖๖
ลำดับที่
4

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม