กรรณกัตถลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้หรือไม่ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ ชนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่เป็นอันกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม การกล่าวและการกล่าวตามอันประกอบด้วยเหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะอันผู้รู้จะพึงติเตียนหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าชนเหล่าใดกล่าวอย่างนั้น ชนเหล่านั้นไม่กล่าวตามที่พระองค์ทรงกล่าวแล้ว และย่อมกล่าวตู่พระองค์ด้วยคำอันไม่เป็นจริง
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบจากวิฑูฑภเสนาบดีว่าพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรกล่าวเรื่องนี้ จึงตรัสให้ไปเชิญพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรมาหาท่าน
แล้วทรงถามพระผู้มีพระภาคว่า พระดำรัสอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่างตรัสไว้ แต่คนอื่นกลับเข้าใจพระภาษิตนั้นเป็นอย่างอื่นไป พึงมีหรือ ก็พระผู้มีพระภาคยังทรงจำพระดำรัสว่า ตรัสแล้ว
อย่างไรบ้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทรงจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่าพระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นตัวเหตุ ตรัสสภาพอันเป็นตัวผลพร้อมทั้งเหตุว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
แล้วทรงถามว่า วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มีความแปลกกัน มีการกระทำต่างกันกระมังหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บรรดาวรรณะ ๔ จำพวกนี้ วรรณะ ๒ จำพวก คือ กษัตริย์และพราหมณ์ ทรงกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ คือ เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่ลุกรับ เป็นที่กระทำอัญชลี เป็นที่กระทำสามีจิกรรม
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัวว่ามิได้ทูลถามถึงความแปลกกันในปัจจุบัน แต่ทูลถามถึงความแปลกกันในสัมปรายภพ
องค์แห่งผู้มีความเพียร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๒. ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารอันสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริงในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.
ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น จะเป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่วรรณะ ๔ จำพวกนั้น ตลอดกาลนาน
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามต่อไปว่าถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕
ประการนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนั้น จะพึงมีความแปลกกัน จะมีการกระทำต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในข้อนี้ ทรงกล่าวความต่างกันด้วยความเพียรแห่งวรรณะ ๔ จำพวกนั้น
เปรียบเหมือนสัตว์คู่หนึ่ง เป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว คู่หนึ่งไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ สัตว์คู่ที่เขาฝึกแล้วเท่านั้น พึงถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว พึงยังภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้วให้ถึงพร้อม
สัตว์คู่ที่เขาไม่ได้ฝึกเลย จะพึงถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว จะพึงยังภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้วให้ถึงพร้อมเหมือนสัตว์คู่ที่เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว ไม่ได้เลย
ฉันนั้นเหมือนกันแล อิฐผลใดอันบุคคลผู้มีศรัทธา มีอาพาธน้อย ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ปรารภความเพียร มีปัญญา พึงถึงอิฐผลนั้น บุคคลผู้ไม่มีศรัทธามีอาพาธมาก โอ้อวด มีมายา เกียจคร้าน มีปัญญาทราม จักถึงได้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพอันเป็นเหตุ และตรัสสภาพอันเป็นผลพร้อมกับเหตุ ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกเหล่านั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ และมีความเพียรชอบเหมือนกัน วรรณ ๔ จำพวกนั้น จะพึงมีความแปลกกัน พึงมีการกระทำต่างกันหรือ
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงกล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือ วิมุติกับวิมุติ ของวรรณะ ๔ จำพวกนั้น
เปรียบเหมือนบุรุษเก็บเอาไม้สาละแห้งมาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้โพลงขึ้น ต่อมา บุรุษอีกคนหนึ่งเก็บเอาไม้มะม่วง
แห้งมาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้โพลงขึ้น และภายหลังบุรุษอีกคนหนึ่งเก็บเอาไม้มะเดื่อแห้งมาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้โพลงขึ้น เปลวกับเปลว สีกับสี หรือแสงกับแสงของไฟที่เกิดขึ้นจากไม้ต่าง ๆ กันนั้น จะไม่พึงมีความแตกต่างกันเลย
ฉันนั้นเหมือนกันแล เดชอันใดอันความเพียรย่ำยีแล้ว เกิดขึ้นด้วยความเพียร ในข้อนี้ ย่อมไม่ทรงกล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือ วิมุติกับวิมุติ
ว่าด้วยเรื่องเทวดา
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าเทวดามีจริงหรือ ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสูโลกนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใดไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นไม่มาสู่โลกนี้
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นจักยังเทวดาทั้งหลายผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือจักขับไล่เสียจากที่นั้น
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า วิฑูฑภเสนาบดีเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้ เป็นกาลอันสมควรที่โอรสกับโอรสจะพึงสนทนากัน
ท่านพระอานนท์จึงย้อนถามวิฑูฑภเสนาบดีว่า พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้มิใช่หรือ
ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักรของพระเจ้าปเสนทิโกศล และในที่ใดพระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้เสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมไม่ทรงสามารถยังสมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีบุญหรือผู้ไม่มีบุญผู้มีพรหมจรรย์หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อนหรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้มิใช่หรือ
พระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมทรงสามารถจะยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ให้เคลื่อน หรือจะทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือ
วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า แม้แต่จะทอดพระเนตรเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงสามารถ ที่ไหนเล่าจักทรงยังเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ให้เคลื่อนหรือจักทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้
ฉันนั้นเหมือนกัน เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ยังมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้นก็ย่อมไม่สามารถแม้จะเห็นเทวดาผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ได้ ที่ไหนเล่าจักให้จุติหรือจักขับไล่เสียจากที่นั้นได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าพรหมมีจริงหรือ ถ้าพรหมมีจริง พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่โลกนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พรหมใดมีทุกข์ พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีทุกข์ พรหมนั้นก็ไม่มาสู่โลกนี้
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่าพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรมาแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสถามพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่าใครกล่าวเรื่องนี้ภายในพระนคร พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรกราบทูลว่า วิฑูฑภเสนาบดี
วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า บัดนี้ ยานพาหนะพร้อมแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระองค์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู ถึงวรรณะ ๔ จำพวกที่บริสุทธิ์ ถึงเทวดาที่ยิ่ง ถึงพรหมที่ยิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ความเป็นสัพพัญญู ถึงวรรณะ ๔ จำพวกที่บริสุทธิ์ ถึงเทวดาที่ยิ่ง ถึงพรหมที่ยิ่งแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นย่อมชอบใจและควรแก่พระองค์ และพระองค์มีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น
อ่าน กรรณกัตถลสูตร