Main navigation

เวขณสสูตร

ว่าด้วย
สุขอันเป็นที่สุดของกาม
เหตุการณ์
เวขณสปริพาชกกล่าวคำเปรียบเทียบวรรณ ๒ อย่าง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสุขอันเป็นที่สุดของกามว่าเป็นเลิศ มีเพียงภิกษุอรหันตขีณาสพเท่านั้นที่พึงรู้ได้ เมื่อการสนทนาธรรมจบ เวขณสปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก

เวขณสปริพาชกได้เปล่งอุทานในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง นี้เป็นวรรณอย่างยิ่ง วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณนั้น เป็นวรรณอย่างยิ่ง แต่ไม่ชี้วรรณนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคำกล่าวนี้ถึงความเป็นคำใช้ไม่ได้

เวขณสปริพาชกทูลว่า เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลแดงย่อมสว่างไสวส่องแสงเรืองอยู่ฉันใด ตัวตนก็ฉันนั้น เมื่อตายไป ย่อมเป็นของมีวรรณ ไม่มีโรค

พระพุทธผู้มีพระภาคทรงถามเวขณสปริพาชกโดยลำดับว่า ในบรรดาวรรณ ๒ นี้ วรรณใดงามกว่า ประณีตกว่า

แก้วไพฑูรย์อันงามเกิดเองอย่างบริสุทธิ์ ๘ เหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว เขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลแดง ย่อมสว่างไสว ส่องแสงเรืองอยู่ หรือแมลงหิ่งห้อยในเวลาเดือนมืดในราตรี

แมลงหิ่งห้อยในเดือนมืดในราตรี หรือประทีปน้ำมันในเดือนมืด ในราตรี

ประทีปน้ำมันในเดือนมืด ในราตรี หรือกองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืด ในราตรี

กองไฟใหญ่ในเวลาเดือนมืด ในราตรี  หรือดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี

ดาวพระศุกร์ในอากาศอันกระจ่าง ปราศจากเมฆ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี หรือดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถที่ ๑๕ (เพ็ญกลางเดือน)

ดวงจันทร์ในเวลาเที่ยงคืนตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในวันอุโบสถที่ ๑๕ (เพ็ญกลางเดือน)  หรือดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงตรง ในอากาศอันกระจ่างปราศจากเมฆ ในสรทสมัยเดือนท้ายฤดูฝน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเทวดาเหล่าใดสู้แสงพระจันทร์และแสงพระอาทิตย์ไม่ได้ เทวดาเหล่านั้นมีมากยิ่งกว่าเทวดาพวกที่สู้แสงพระจันทร์และแสงพระอาทิตย์ได้ ทรงรู้เรื่องเช่นนั้นดีอยู่ ถึงกระนั้น ก็ไม่ทรงกล่าวว่า วรรณใดไม่มีวรรณอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า

เวขณสปริพาชกชื่อว่ากล่าวอยู่ว่า วรรณใดเลวกว่า และเศร้าหมองกว่าแมลงหิ่งห้อย วรรณนั้นเป็นวรรณอย่างยิ่ง แต่ท่านไม่ชี้วรรณนั้นเท่านั้น

แล้วตรัสว่า ความสุขโสมนัสอันใดอาศัยกามคุณ ๕ เกิดขึ้น ความสุขโสมนัสนี้ ทรงเรียกว่า กามสุข

กามสุขเลิศกว่ากามทั้งหลาย

ความสุขอันเป็นที่สุดของกาม (พระนิพพาน) เลิศกว่ากามสุข

ความสุขอันเป็นที่สุดของกามนั้น (พระนิพพาน) เป็นเลิศ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว เวขณสปริพาชกกล่าวว่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นดี น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อที่เวขณสปริพาชกผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีลัทธิอาจารย์เป็นประการอื่นจะพึงรู้ได้

เฉพาะภิกษุอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นแล้ว จะพึงรู้ข้อที่ว่า กาม กามสุข หรือสุขอันเป็นที่สุดของกาม (พระนิพพาน) นี้ได้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้ เวขณสปริพาชกโกรธ ขัดใจ จะด่าว่าติเตียนพระผู้มีพระภาคจึงได้กราบทูลว่า

ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์บางพวกในโลกนี้ไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น ไม่รู้เงื่อนเบื้องปลาย แต่ปฏิญาณอยู่ว่าเรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีดังนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคำน่าหัวเราะทีเดียว ถึงความเป็นคำต่ำช้าอย่างเดียว ถึงความเป็นคำเปล่า ถึงความเป็นคำเหลวไหล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดเมื่อไม่รู้เงื่อนเบื้องต้น เงื่อนเบื้องปลาย มาปฏิญาณว่าเรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรถูกข่มขี่สมกับเหตุ

ก็แต่ว่า เงื่อนเบื้องต้นจงงดไว้ เงื่อนเบื้องปลายจงงดไว้ บุรุษผู้รู้ความ ไม่เป็นคนโอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนซื่อตรง ขอจงมาเถิด จะทรงสั่งสอน จะทรงแสดงธรรม เมื่อปฏิบัติตามคำที่ทรงสอนแล้ว ไม่นานก็จักรู้เอง จักเห็นเอง ได้ยินว่า การที่จะหลุดพ้นไปได้โดยชอบจากเครื่องผูก คือ เครื่องผูกคืออวิชชา ก็เป็นอย่างนั้น

เปรียบเหมือนเด็กอ่อนยังนอนหงาย ถูกเขาผูกไว้ด้วยเครื่องผูกที่ข้อเท้าทั้งสอง ที่ข้อมือทั้งสอง ที่คอหนึ่ง เป็นห้าแห่ง เครื่องผูกเหล่านั้นจะพึงหลุดไปเพราะเด็กนั้นถึงความเจริญ เพราะเด็กนั้นถึงความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย เขาพึงรู้ว่าเป็นผู้พ้นและเครื่องผูกก็ไม่มี

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว เวขณสปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

 

 

อ่าน เวขณสสูตร

 

อ้างอิง
เวขณสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๘๙-๔๐๒
ลำดับที่
12

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม