Main navigation

ลฑุกิโกปมสูตร

ว่าด้วย
อุปมาด้วยนางนกมูลไถ
เหตุการณ์
เมื่อพระอุทายีกราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงดำริของตนว่าทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ออกไป และทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขมาให้ ทรงนำอกุศลธรรมออกไป ทรงนำกุศลธรรมมาให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่าด้วยการละสังโยชน์ละเอียดและหยาบ

ท่านพระอุทายีกราบทูลความดำริแห่งจิตของตนแก่พระผู้มีพระภาคว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้

ทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้ามาให้แก่เราทั้งหลายหนอ

ทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้

ทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลาย

แล้วกล่าวต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลายละการฉันโภชนะในเวลาที่ไม่ควรในเวลากลางวันและกลางคืน ตนมีความน้อยใจ มีความเสียใจ

เมื่อเห็นกะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาไม่ควรในกลางวันและในกลางคืนเสีย

เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ เข้าไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ทำโจรกรรมแล้วบ้าง ยังไม่ได้ทำโจรกรรมบ้าง มาตุคามย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วยอสัทธรรมบ้าง

เมื่อตนระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปเสียได้หนอ พระผู้มีพระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ ไม่ละโทษสิ่งที่เรากล่าวเพราะเหตุแห่งโทษเพียงเล็กน้อยนี้ เขาจึงไม่ละโทษนั้นด้วย ไม่เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสโทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขานั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกอันมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

เปรียบเหมือนนกนางมูลไถ ถูกผูกไว้ด้วยเครื่องผูกคือเถาวัลย์หัวด้วน ย่อมรอเวลาที่จะฆ่า หรือเวลาที่จะถูกมัด หรือเวลาตายในที่นั้นเอง เครื่องดักคือเถาวัลย์หัวด้วน เป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เขาย่อมละโทษนั้นด้วย เข้าไปตั้งความยำเกรงในเราด้วย โทษเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นราชพาหนะอันประเสริฐ เคยเข้าสงคราม ควาญช้างผูกด้วยเชือกเป็นเครื่องผูกอันมั่น พอเอี้ยวกายไปหน่อยหนึ่ง ก็ทำเครื่องผูกนั้นให้ขาดหมด ทำลายหมด แล้วหลีกไปได้ตามปรารถนา เครื่องผูกช้างต้นนั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

เปรียบเหมือนบุรุษคนจน ไม่มีอะไรเป็นของตน ไม่ใช่คนมั่งคั่ง เขามีเรือนเล็กๆ หลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกหลุดลุ่ย มีภรรยาคนหนึ่งไม่สวย เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต

เขาพึงมีความดำริจะออกบวชเป็นบรรพชิตบ้าง แต่เขาไม่อาจละเรือนเล็กหลังหนึ่ง มีเครื่องมุงบังและเครื่องผูกอันหลุดลุ่ย ละภรรยาคนหนึ่งไม่สวย แล้วปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตได้ เครื่องผูกของเขานั้นเป็นเครื่องผูกมีกำลัง มั่น แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

เปรียบเหมือนคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีภรรยา ทาส ทาสี ไว้เป็นอันมาก เขาเห็นภิกษุผู้อยู่ในอาราม มีมือและเท้าล้างดีแล้ว ฉันโภชนะอันเจริญใจ นั่งอยู่ในที่อันร่มเย็น ประกอบในอธิจิต.

เขาพึงมีความดำริ จะออกบวชเป็นบรรพชิตบ้าง เขาอาจละทอง ภรรยา ทาส ทาสี เป็นอันมาก แล้วออกบวช เป็นบรรพชิตได้ เครื่องผูกของคฤหบดีไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร

บุคคล ๔ จำพวกปรากฏอยู่ในโลก

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ แต่ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ผู้นั้นยังรับเอาความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี เราเรียกบุคคลนี้ว่า ต่างกันในบุคคลนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ แต่ผู้นั้นไม่รับเอาความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ ให้ถึงความไม่มีได้ แม้บุคคลผู้นี้ เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติในบางครั้งบางคราว ความดำริที่แล่นไป อันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธินั้นได้อยู่ ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความดำรินั้นฉับพลัน เราก็กล่าวว่า ผู้อันกิเลสประกอบไว้ มิใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้

บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้ดังนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพานเป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อันกิเลสคลายแล้ว มิใช่ผู้อันกิเลสประกอบไว้ เพราะความที่อินทรีย์เป็นของ ต่างกันในบุคคลนี้

ความสุขโสมนัสที่เกิดเพราะอาศัยกามคุณห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนี้ เรากล่าวว่ากามสุข ความสุขไม่สะอาด ความสุขของปุถุชน ไม่ใช่สุขของพระอริยะ อันบุคคลไม่ควรเสพ ไม่ควรให้เกิดมี ไม่ควรทำให้มาก ควรกลัวแต่สุขนั้น.

ฌานทั้งสี่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี้ ความสุขเกิดแต่ความออกจากกาม ความสุขเกิดแต่ความสงัด ความสุขเกิดแต่ความสงบ ความสุขเกิดแต่ความสัมโพธิ อันบุคคลควรเสพ ควรให้เกิดมี ควรทำให้มาก ไม่ควรกลัวแต่สุขนั้น

ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เรากล่าวว่า ยังหวั่นไหว จตุตถฌานนี้ เรากล่าวว่า ไม่หวั่นไหว

ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ไม่ควรทำความอาลัย เธอทั้งหลายจงละเสีย จงก้าวล่วงเสีย บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ

 

อ่าน ลฑุกิโกปมสูตร

 

อ้างอิง
ลฑุกิโกปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๗๕-๑๘๕ หน้า ๑๔๑-๑๕๑
ลำดับที่
18

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม