Main navigation

พหุธาตุกสูตร

ว่าด้วย
ชุมนุมธาตุมากอย่าง
เหตุการณ์
พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

ภัยไม่ว่าชนิดใด ๆ อุปัทวะ (อัปมงคล) ไม่ว่าชนิดใด ๆ อุปสรรคไม่ว่าชนิดใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ย่อมเกิดขึ้นแต่คนพาล ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่บัณฑิต

คนพาลจึงมีภัยเฉพาะหน้า บัณฑิตไม่มีภัยเฉพาะหน้า

คนพาลจึงมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ

คนพาลจึงมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค

ภัย อุปัทวะ อุปสรรค ไม่มีแต่บัณฑิต เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่า จักเป็นบัณฑิต

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

จะควรเรียกว่า ภิกษุเป็นบัณฑิต มีปัญญาพิจารณา ด้วยเหตุเท่าไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

เพราะภิกษุเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท และฉลาดในฐานะและอฐานะ  จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุเป็นบัณฑิต มีปัญญาพิจารณา

พระอานนท์ทูลถามว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ ด้วยเหตุเท่าไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

ธาตุนี้มี ๑๘ อย่าง ได้แก่

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ
โสต เสียง โสตวิญญาณ
ฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ
ชิวหา รส ชิวหาวิญญาณ
กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ
มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ

ธาตุ ๑๘ อย่างนี้ ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุโดยปริยายอื่น ๆ

ธาตุมี ๖ อย่าง ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ

ธาตุ ๖ อย่างนี้ แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส  โทมนัส  อุเบกขา  อวิชชา

ธาตุ ๖ อย่างนี้ แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุนี้มี ๖ อย่าง ได้แก่  กาม เนกขัมมะ พยาบาท ความไม่พยาบาท ความเบียดเบียน  ความไม่เบียดเบียน

ธาตุ ๖ อย่างนี้ แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุนี้มี ๓ อย่าง ได้แก่  กาม  รูป  อรูป

ธาตุ ๓ อย่างนี้ แม้ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

ธาตุนี้มี ๒ อย่าง คือ สังขตธาตุ อสังขตธาตุ

ธาตุ ๒ อย่าง แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ

พระอานนท์ทูลถามว่า ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ ด้วยเหตุเท่าไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า อายตนะทั้งภายในและภายนอกนี้ มีอย่างละ ๖ คือ

จักษุและรูป
โสตและเสียง
ฆานะและกลิ่น
ชิวหาและรส
กายและโผฏฐัพพะ
มโนและธรรมารมณ์

แม้ด้วยเหตุที่ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในอายตนะ

พระอานนท์ทูลถามว่า ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ด้วยเหตุเท่าไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า

เมื่อเหตุนี้มีผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

อย่างนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับด้วยวิราคะไม่มีส่วนเหลือ จึงดับสังขารได้
เพราะสังขารดับ จึงดับวิญญาณได้
เพราะวิญญาณดับ จึงดับนามรูปได้
เพราะนามรูปดับ จึงดับสฬายตนะได้
เพราะสฬายตนะดับ จึงดับผัสสะได้
เพราะผัสสะดับ จึงดับเวทนาได้
เพราะเวทนาดับ จึงดับตัณหาได้
เพราะตัณหาดับ จึงดับอุปาทานได้
เพราะอุปาทานดับ จึงดับภพได้
เพราะภพดับ จึงดับชาติได้
เพราะชาติดับจึงดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสได้

อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้

ด้วยเหตุเท่านี้แล จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท

พระอานนท์ทูลถามว่า ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ ด้วยเหตุเท่าไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ

บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ (โสดาบันผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ) พึงเข้าใจสังขารไร ๆ โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นอัตตา พึงปลงชีวิตมารดา พึงปลงชีวิตบิดา พึงปลงชีวิตพระอรหันต์ มีจิตคิดประทุษร้าย พึงทำโลหิตแห่งตถาคตให้ห้อขึ้น พึงทำลายสงฆ์ จะพึงมุ่งหมายศาสดาอื่น นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ๒ พระองค์ พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ องค์ พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

สตรีพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

สตรีพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

สตรีพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

สตรีพึงสำเร็จเป็นมาร นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

สตรีพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต พึงเกิดเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ วิบากแห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต พึงเกิดเป็นที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตนั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต นั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ

ปุถุชนพึงเข้าใจสังขารไร ๆ โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นอัตตา ปุถุชนพึงปลงชีวิตมารดาได้ พึงปลงชีวิตบิดา พึงปลงชีวิตพระอรหันต์ ปุถุชนมีจิตคิดประทุษร้ายได้ พึงทำโลหิตแห่งตถาคตให้ห้อขึ้นได้ ปุถุชนพึงทำลายสงฆ์ได้ ปุถุชนจะพึงมุ่งหมายศาสดาอื่นได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว

พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์เดียว พึงเสด็จอุบัติในโลกธาตุเดียว

บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ

บุรุษพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

บุรุษพึงสำเร็จเป็นท้าวสักกะ

บุรุษพึงสำเร็จเป็นมาร

บุรุษพึงสำเร็จเป็นพรหม นั่นเป็นฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ วิบากแห่งกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต พึงเกิดเป็นที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ วิบากแห่งกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต พึงเกิดเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เพราะกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะที่มีได้

และรู้ชัดว่า ข้อที่เป็นฐานะมีได้ คือ บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ เพราะกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต นั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัย นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ด้วยเหตุเท่านี้ จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ

เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ ว่าชื่อพหุธาตุก (ชุมนุมธาตุมากอย่าง) บ้าง ว่าชื่อจตุปริวัฏฏ (แสดงอาการเวียน ๔ รอบ) บ้าง ว่าชื่อธรรมาทาส (แว่นส่องธรรม) บ้าง ว่าชื่ออมตทุนทุภี (กลองบันลืออมฤต) บ้าง ว่าชื่ออนุตตรสังคามวิชัย (ความชนะสงครามอย่างไม่มีความชนะอื่นยิ่งกว่า) บ้าง

 

 

อ่าน พหุธาตุกสูตร

 

อ้างอิง
พหุธาตุกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๓๔-๒๔๖
ลำดับที่
21

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม