Main navigation

นิโรธสูตร

ว่าด้วย
นิโรธ
เหตุการณ์
พระอุทายีกล่าวแย้งคำสอนพระสารีบุตร ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูปไม่อนุโมนาภาษิต จึงกล่าวภาษิตกับภิกษุทั้งหลายต่อหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาค

ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าภิกษุนั้นไม่บรรลุอรหัตผลในปัจจุบัน ก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้

ท่านพระอุทายีได้คัดค้านท่านพระสารีบุตรถึง ๓ ครั้งว่า

ข้อที่ภิกษุก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง นั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ท่านพระสารีบุตรคิดว่า ท่านพระอุทายีคัดค้านท่านถึง ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาภาษิตของท่าน ท่านพึงเข้าไปเผ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าเธอไม่พึงบรรลุอรหัตผลในปัจจุบันไซร้ เธอก็ก้าวล่วงความเป็นสหายเหล่าเทพผู้มีกวฬิงการาหารเป็นภักษา เข้าถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ทางใจบางเหล่า พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้

ท่านพระอุทายีก็ยังคงคัดค้านท่านพระสารีบุตรถึง ๓ ครั้ง แม้ต่อหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาค และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาภาษิต พระสารีบุตรจึงคิดว่าท่านพึงนิ่งเสีย

พระผู้มีพระภาคจึงถามท่านพระอุทายีว่า พระอุทายีหมายถึงเหล่าเทพผู้มีฤทธิทางใจเหล่าไหน

เมื่อพระอุทายีทูลตอบว่าหมายถึงเหล่าเทพชั้นอรูปที่สำเร็จด้วยสัญญา พระผู้มีพระภาคได้กล่าวว่าพระอุทายีเป็นพาล ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวอย่างนั้น

แล้วตรัสกับพระอานนท์ว่าเหตุไรจึงวางเฉยเมื่อภิกษุผู้เถระถูกเบียดเบียนอยู่

แล้วได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา พึงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง พึงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้

เมื่อทรงหลีกออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปนั่งที่อุปัฏฐานศาลา ได้ตรัสถามท่านพระอุปวาณะว่า

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรมเท่าไร ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์

ท่านพระอุปวาณะกราบทูลว่า

ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์

เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ

เป็นผู้มีวาจาไพเราะ มีถ้อยคำไพเราะ ประกอบด้วยวาจาชาวเมืองอันสละสลวย ไม่มีโทษ

เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง

ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าหากว่าธรรม ๕ ประการนี้ ไม่พึงมีแก่ภิกษุผู้เถระ เพื่อนพรหมจรรย์พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาโดยความเป็นผู้มีฟันหัก มีผมหงอก มีหนังย่น แต่เพราะธรรม ๕ ประการนี้มีแก่ภิกษุผู้เถระ ฉะนั้น เพื่อนพรหมจรรย์จึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา

 

 

อ่าน นิโรธสูตร

 

อ้างอิง
นิโรธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๖๖ หน้า ๑๗๓-๑๗๕
ลำดับที่
26

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม