Main navigation

ทีปสูตร

ว่าด้วย
อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงอานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ภิกษุในธรรมวินัยนี้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นไว้เฉพาะหน้า มีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า

1. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

2. เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

3. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจเข้า

4. ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า

5. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

6. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

7. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

8. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขาร หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขาร หายใจเข้า

9. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจเข้า

10. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า

11. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า

12. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

13. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า

14. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า

15. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจเข้า

16. ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า

เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก จักษุไม่ลำบาก และจิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

เพราะเหตุนั้น ถ้าภิกษุพึงหวังว่า

กายของเราไม่พึงลำบาก จักษุของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงสละความระลึกและความดำริของเราที่อาศัยเรือนนั้น ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งไม่ปฏิกูลและในสิ่งปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงเว้นสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงสงัดจากกาม สงัดจากกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุจตุถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญา ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไรน้อยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้

ถ้าเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่พัวพันเสวยเวทนานั้น

เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่าเวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก

 

 

 

อ่าน ทีปสูตร

อ้างอิง
ทีปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๓๒๗-๑๓๔๗ หน้า ๓๒๓-๓๒๖
ลำดับที่
5

สถานที่

ไม่ระบุ

อารมณ์

สงบ มั่นคง

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม