Main navigation

ปริวัฏฏสูตร

ว่าด้วย
การรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุปาทานขันธ์ ๕ โดยเวียนรอบ ๔ คือ รู้ยิ่งซึ่งขันธ์ ๕ ความเกิดแห่งขันธ์ ๕ ความดับแห่งขันธ์ ๕ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งขันธ์ ๕

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

อุปาทานขันธ์ ๕ คือ

อุปาทานขันธ์ คือรูป
อุปาทานขันธ์ คือเวทนา
อุปาทานขันธ์ คือสัญญา
อุปาทานขันธ์ คือสังขาร
อุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ

เมื่อทรงรู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น จึงทรงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์

เวียนรอบ ๔ อย่างไร คือ

รู้ยิ่งซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก็รูปเป็นไฉน คือ

มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป

ความเกิดขึ้นแห่งรูป ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร

ความดับแห่งรูป ย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป

ก็เวทนาเป็นไฉน

เวทนา ๖ หมวดนี้ คือ เวทนาเกิดแต่จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าเวทนา

ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ

ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา

ก็สัญญาเป็นไฉน

สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ ความสำคัญในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์. นี้เรียกว่าสัญญา

ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ

ความดับแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา

ก็สังขารเป็นไฉน

เจตนา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา นี้เรียกว่าสังขาร

ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ

ความดับแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร

วิญญาณเป็นไฉน

วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ

ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป

ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ

ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง

รู้ยิ่งซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้

รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้

รู้ยิ่งซึ่งความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้

รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้

ปฏิบัติแล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้มีกำลังสามารถเป็นของตน ความวนเวียนเพื่อความปรากฏ ย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น

 

 

อ่าน ปริวัฏฏสูตร

 

อ้างอิง
ปริวัฏฏสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๑๒-๑๑๗
ลำดับที่
6

สถานที่

นครสาวัตถี

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม