Main navigation

โมคคัลลานสูตร

ว่าด้วย
อุบายแก้ง่วง
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกลา มิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ แล้วทรงหายจากเภสกลามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคีรนคร แคว้นภัคคะ เสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระมหาโมคคัลลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม

พระพุทธเจ้าให้อุบายแก้ง่วงแก่พระโมคลัลลานะตามลำดับดังนี้

-  เมื่อมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ พึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ 
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงทำในใจถึงเอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก
-  ถ้ายังละไม่ได้ พึงสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น
-  พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

แล้วแสดงธรรมต่อไปว่า

ภิกษุจักไม่ชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล และในตระกูลมีกิจหลายอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ใส่ใจถึงภิกษุผู้มาแล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า  ใครหนอยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา

เพราะไม่ได้อะไร จึงเป็นผู้เก้อเขิน เมื่อเก้อเขิน ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ  

ภิกษุจักไม่พูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน เมื่อมีถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกัน ก็จำต้องหวังการพูดมาก

เมื่อมีการพูดมาก ย่อมคิดฟุ้งซ่าน เมื่อคิดฟุ้งซ่าน ย่อมไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันเงียบเสียง ไม่อื้ออึง  ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้น

ข้อปฏิบัติที่ยังภิกษุให้หลุดพ้น

ได้ฟังธรรมว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น

เมื่อได้ฟังแล้ว รู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง

เมื่อรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง

เมื่อกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุข มิใช่ทุกข์ก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืน

เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้น ๆ อยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เป็นผู้เกษมจากโยคะล่วงส่วน เป็นพรหมจารีล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
 

อ้างอิง
โมคคัลลานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๕๘ หน้า ๗๓-๗๕
ลำดับที่
11

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม