Main navigation

โสฬสปัญหา

ว่าด้วย
ธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าตอบปัญหาเรื่องธรรมอันเป็นเหตุให้ถึงฝั่งแก่พราหมณ์ 16 คน

โสฬสปัญหา เป็นธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา อุดมด้วยปัญญา  พระสูตรนี้ได้รับการยกย่องมากที่สุดในวงการอภิปรัชญาว่า เป็นเลิศทั้งในด้านอรรถ  เลิศทั้งในด้านพยัญชนะ กล่าวถึงมานพ 16 คน มาทูลถามปัญหาที่เปี่ยมด้วยปัญญาต่อพระพุทธองค์  และสรรเสริญคุณอันวิเศษของพระพุทธองค์

เนื้อความแห่งปัญหาหนึ่งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ผู้ใดพึงปฏิบัติตามก็พึงจากฝั่งนี้ไปถึงฝั่งโน้นได้ ธรรมปริยายนั้นเป็นทางเพื่อไปสู่ฝั่งโน้น เพราะฉะนั้น ธรรมปริยายนี้จึงชื่อว่า ปรายนะ ฯ 

-------------

วิสัชนาของพระพุทธเจ้า

อชิตมาณพ

วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมเครื่องให้อวิชาตกไป

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่(เพราะความประมาท) ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา

นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ

ผู้มีปัญญารักษาตนเป็นผู้ไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ

(ขยายความอชิตปัญหา ภูตมิทสูตร)

ติสสเมตเตยยมาณพ

ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้

(ขยายความเมตตยปัญหา ปรายนสูตร)

ปุณณกมาณพ

สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ปรารถนาความเป็นมนุษย์ อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย สัตว์ผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพันถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ

เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้

ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลกไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้แล้ว

(ขยายความปุณณปัญหา อานันนทสูตร)

เมตตคูมาณพ

ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลรู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ

พึงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก

ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ (ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย

ผู้รู้แจ้งแล้ว สละธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและมิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ ผู้นั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว 

โธตกมาณพ

ธรรมเครื่องระงับกิเลสที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย 

อุปสีวมาณพ

ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้ง ทั้งกลางวันกลางคืนเถิด

ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ฯ

ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลก พึงเป็นผู้เยือกเย็น พ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมดก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว

นันทมาณพ

ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและวัตร) ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่า เป็นมุนี

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ ฯ

คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นแลข้ามโอฆะได้แล้ว

เหมกมาณพ

ธรรมเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลก- ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้แล้ว ฯ

โตเทยยมาณพ

ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี  ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้ปรารถนาอยู่ด้วย ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา มิใช่เป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย ท่านจงรู้จักมุนีว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพ

กัปปมาณพ

ธรรมอันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว - ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่านิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไปในทางของมาร ฯ

ชตุกัณณีมาณพ

ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้นเถิด อนึ่ง กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่าน กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบ

เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน

ภัทราวุธมาณพ

หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหาเป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวงในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง ให้สิ้นเชิง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมถือมั่นสิ่งใดๆในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า เป็นหมู่สัตว์ติดข้องอยู่แล้วเพราะการถือมั่นดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง

อุทยมาณพ

เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา 

โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ

เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอก ระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงดับ

โปสาลมาณพ

ญาณของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูปกายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและภายนอก เป็นผู้น้อมไปแล้วในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ผู้มีอกิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้นนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ย่อมเห็นแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของบุคคลนั้น อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นญาณอันถ่องแท้อย่างนี้

โมฆราชมาณพ

ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

ปิงคิยมาณพ

ธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา

ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก

เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก

 

ดาวน์โหลด E Book โสฬสปัญหา

อ้างอิง
วัตถุกถา ปรายนวรรคที่ ๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๔-๔๔๔ หน้า ๓๙๑-๔๑๘
ลำดับที่
15

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม