บิดา-มารดา คือพรหมของบุตร
สกุลใดบุตรบูชามารดาบิดาในเรือนตน สกุลนั้นมีพรหม มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนยบุคคล เพราะมารดาบิดา มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตร
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร ท่านเรียกว่าพรหม ว่าบุรพาจารย์ และว่าอาหุไนยบุคคล ดังนั้น พึงนมัสการและสักการะ มารดาบิดา ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน การอบกลิ่น การอาบน้ำ และการล้างเท้าทั้งสอง เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดาดังนี้ บุคคลย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง และเมื่อเขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์
พระพรหมภาวนา ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ส่วนมารดาบิดาก็ภาวนา ๔ ในบุตรทั้งหลายเช่นเดียวกัน ดังนี้
- เกิดเมตตาจิต ในเวลาที่บุตรอยู่ในท้อง ว่าเมื่อไรจะได้เห็นบุตรปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบ บริบูรณ์
- เกิดความกรุณาเมื่อได้ยินเสียงบุตรที่ยังเยาว์ นอนแบเบาะ มีเลือดไรไต่ตอม หรือนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้า
- เกิดมุทิตาจิต มีจิตอ่อนไหว บันเทิงใจ ในเวลาที่บุตรวิ่งเล่น หรือในเวลาที่บุตรอยู่ในวัยหนุ่มสาว
- เกิดอุเบกขา วางใจเมื่อบุตรเริ่มมีครอบครัวแยกเรือนออกไป ว่าบุตรของเราสามารถอยู่ได้ตามลำพัง
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร เรียกว่าบุรพาจารย์ - ตั้งแต่บุตรเกิด มารดาบิดาให้บุตรเรียน สอนนั่ง ยืน เดิน นอน เคี้ยว กิน สอนบุตรควรทำหรือไม่ควรทำสิ่งใด ต่อมาอาจารย์อื่นจึงให้ศึกษาศิลปะเรื่องช้าง ม้า รถ ธนูและการนับด้วยนิ้วมือเป็นต้น ให้สรณะ ให้ ตั้งใจอยู่ในศีล ให้บรรพชา ให้เรียนพุทธพจน์ ให้อุปสมบท ให้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ดังนั้น อาจารย์ เหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่าเป็นปัจฉาจารย์ ส่วนมารดาบิดาเป็นอาจารย์ก่อนทุกอาจารย์ จึงเป็นบุรพาจารย์
มารดาบิดาย่อมฟูมฟักรักษาบุตรของตนแม้โดยการฆ่าชีวิตสัตว์อื่น บัณฑิตเมื่อเห็นบุตรปรนนิบัติมารดา บิดาของเขาแล้ว ย่อมสรรเสริญบุตรนั้นในโลกนี้ และเมื่อบุตรนั้นไปสู่ปรโลกแล้ว จะได้สถิตอยู่ในสวรรค์ ร่าเริงบันเทิงใจด้วยทิพย์สมบัติ