ข้อประพฤติ ปฏิบัติต่อทิศทั้ง ๖
อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้ง ๖ ให้เกษมสำราญ ให้ไม่มีภัย โดยประพฤติและปฏิบัติ ดังนี้
ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาและบิดา
ซึ่งบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจะเลี้ยงท่านตอบ รับทำกิจของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก และเมื่อท่านละไปแล้ว ตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา
ส่วนมารดาบิดา ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาภรรยาที่สมควรให้ และมอบทรัพย์ให้
ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์
ซึ่งศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นยืนรับ เข้าไปยืนคอยรับใช้ เชื่อฟัง ทำการปรนนิบัติ และเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
ส่วนอาจารย์ ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ให้เรียนดี บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง และทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย
ทิศเบื้องหลัง คือ บุตรและภรรยา
ซึ่งสามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕ คือ ยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ดูหมิ่น ไม่ประพฤตินอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้ และให้เครื่องแต่งตัว
ส่วนภรรยา ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ไม่ประพฤตินอกใจ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ และขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง
ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรและอำมาตย์
ซึ่งกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ การให้ปัน เจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ประพฤติประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ และไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง
ส่วนมิตร ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งได้ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ และนับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร
ทิศเบื้องต่ำ คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา ทาสและกรรมกร
ซึ่งนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ให้อาหารและรางวัล รักษาในคราวเจ็บไข้ แจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน และ ด้วยปล่อยในสมัย
ส่วนทาสกรรมกร ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย เลิกงานทีหลังนาย ถือเอาแต่ของที่นายให้ ทำงานให้ดีขึ้น และนำคุณของนายไปสรรเสริญ
ทิศเบื้องบน คือ สมณพรามณ์
ซึ่งกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ด้วยการเปิดประตูต้อนรับ และให้อามิสทานเนืองๆ
ส่วนสมณพราหมณ์ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และบอกทางสวรรค์ให้
คฤหัสถ์ควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อ มีปัญญา สงเคราะห์แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่กล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ ย่อมได้ยศ คนหมั่นไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการ ได้แก่ การให้ เจรจาไพเราะ ประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้นๆ ตามควร เป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลก ซึ่งถ้ามารดาและบิดาไม่มีธรรมเหล่านี้ จะไม่ได้รับความนับถือบูชาจากบุตร เมื่อบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า
เมื่อจบเทศนา สิงคาลกะขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป