มหาโคสิงคสาลสูตร
พระสารีบุตรถามพระเถระทั้งหลายว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเห็นปานไร และขอให้พระเถระแต่ท่านตอบตามปฏิภาณที่เป็นของตน
พระอานนท์ตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ
ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมเห็นปานนั้น อันภิกษุนั้นสดับมากแล้ว ทรงไว้แล้ว สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะอันราบเรียบ ไม่ขาดสาย เพื่อถอนเสียซึ่งอนุสัย
พระเรวตะตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น ประกอบเนือง ๆ ซึ่งเจโตสมถะอันเป็นภายใน มีฌานอันไม่ห่างเหินแล้ว ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร
พระอนุรุทธะตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุผู้ตรวจดูโลกพันหนึ่งด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
พระมหากัสสปะตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุที่ตนเองเป็นผู้อยู่ในป่า เที่ยวบิณฑบาต ถือผ้าบังสุกุล ถือไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงัด เป็นผู้ไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัศนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ในป่า เที่ยวบิณฑบาต ถือผ้าบังสุกุล ถือไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงัด เป็นผู้ไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัศนะด้วย
พระโมคคัลลานะตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุ ๒ รูป ในพระศาสนานี้ กล่าวอภิธรรมกถาทั้ง ๒ นั้น ถามกันและกัน ถามปัญหากันแล้ว ย่อมแก้กันเอง ไม่หยุดพักด้วย และธรรมกถาของทั้ง ๒ นั้น ย่อมเป็นไปด้วย
พระสารีบุตรตอบว่า
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุผู้ยังจิตให้เป็นไปในอำนาจ และไม่เป็นไปตามอำนาจของจิต หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาใด ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นได้ในเวลานั้น
พระเถระเหล่านั้นจึงเข้าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงพยากรณ์ เพื่อจะได้จำคำพยากรณ์นั้น เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว พระสารีบุตรเล่าเหตุการณ์และคำพยากรณ์ของพระเถระแต่ละรูปให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพระเถระแต่ละรูปได้พยากรณ์โดยชอบตามปฏิภาณของตน คำของพระเถระทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย
แล้วทรงตรัสให้พระเถระฟังคำพยากรณ์ของพระองค์ว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้าว่า จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น
อ่าน มหาโคสิงคสาลสูตร
พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม
ธรรมปฏิบัติ
พระธรรม
วิเวก
พระธรรม
ธรรมวิภังค์
พระธรรม
เวทัลลธรรม
พระธรรม
ความไม่ประมาท
พระธรรม
อานุภาพกรรม
พระธรรม
สุคติ สุคโต
พระธรรม
ครอบครัวโดยธรรม