จูฬเวทัลลสูตร
ธรรมทินนาภิกษุณีตอบคำถามวิสาขอุบาสก ดังนี้
ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สักกายะ
สักกายะ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ และวิญญาณูปาทานขันธ์
สักกายสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพันด้วยตัณหานั้น
สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ปัญญาอันเห็น ชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ
อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละอย่างก็ไม่ใช่ แต่ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น
สักกายทิฏฐิ จะมีได้โดย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ไม่ฉลาดและไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้
สักกายทิฏฐิ จะไม่มีได้โดย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ฉลาดและฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ
อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ
ขันธ์ ๓ (กองศีล กองสมาธิ กองปัญญา)
อริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ
- วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์
- ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์
- ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์
ธรรมที่เป็นสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
ธรรมที่เป็นนิมิตของสมาธิ คือ สติปัฏฐาน ๔
ธรรมที่เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ คือ สัมมัปปธาน ๔
และการทำให้สมาธิเจริญ คือ ความเสพคุ้น ความเจริญ ความทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น
สังขาร มี ๓ ประการ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร
๑. กายสังขาร ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเป็นกายสังขาร เนื่องจากเป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย
๒. วจีสังขาร วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร เนื่องจากบุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อน แล้วจึงเปล่งวาจา
๓. จิตตสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร เนื่องจากเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต
สัญญาเวทยิตนิโรธ
ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะเข้า ว่าเรากำลังเข้าอยู่ หรือว่าเราเข้าแล้ว ซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น ท่านให้เกิดแล้วตั้งแต่แรก
เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรม คือ วจีสังขารจะดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจะดับ ส่วนจิตตสังขารจะดับทีหลัง
ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้มีความคิดว่าเราจะออก ว่าเรากำลังออก หรือว่าเราออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ก็แต่ความคิดอันนำเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น ท่านให้เกิดแล้วแต่แรก
เมื่อออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรม คือ จิตตสังขารจะเกิดขึ้นก่อน ต่อ จากนั้นกายสังขารก็เกิดขึ้น ส่วนวจีสังขารจะเกิดขึ้นทีหลัง
ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมถูกต้องด้วยผัสสะ ๓ ประการ ได้แก่
ผัสสะชื่อสุญญตะ (รู้สึกว่าว่าง) ผัสสะชื่ออนิมิตตะ (รู้สึกว่าไม่มีนิมิต) และผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ (รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง) และภิกษุนั้นมีจิตน้อมไปในวิเวก โอนไปในวิเวก เอนไปในวิเวก
เวทนามี ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต
สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป
ทุกขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ไม่สำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต
ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป
อทุกขมสุขเวทนา คือ ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ เป็นส่วนกลางมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต
อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบ เป็นทุกข์เพราะรู้ผิด
ราคานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในสุขเวทนา แต่ไม่ทั้งหมด เป็นธรรมที่จะพึงละได้ในสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคานุสัยด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น
ปฏิฆานุสัย เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในทุกขเวทนา แต่ไม่ทั้งหมด เป็นธรรมที่จะพึงละได้ในทุกขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไรเราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น
อวิชชา เป็นอนุสัยที่ตามนอนอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา เป็นธรรมที่จะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนาแต่ไม่ทั้งหมด
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น
ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา
ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา
อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา
วิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอวิชชา
วิมุติเป็นส่วนเปรียบแห่งวิชชา
นิพพานเป็นส่วนเปรียบแห่งวิมุติ
นิพพานไม่มีส่วนเปรียบ เพราะพรหมจรรย์หยั่งลงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นที่สุด
ลำดับนั้น วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนา ภาษิตของธรรมทินนาภิกษุณี แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมกถากับธรรมทินนาภิกษุณี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้เป็นพระองค์ก็พึงพยากรณ์เนื้อความนั้นเหมือนที่ธรรมทินนาภิกษุณีพยากรณ์แล้ว
อ่าน จูฬเวทัลลสูตร