Main navigation

อาเนญชสัปปายสูตร

ว่าด้วย
ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบาย
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเรื่องการพิจารณากาม ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบาย และปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบาย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กามไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เลือนหายไปเป็นธรรมดา กามได้ทำความล่อลวง เป็นที่บ่นถึงของคนพาล

กามและกามสัญญาทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นแดนแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นที่หากินของมาร

กามมีอกุศลลามกเกิดที่ใจคือ อภิชฌาบ้าง พยาบาทบ้าง สารัมภะบ้าง

กามเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้ 

ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบาย

อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

๑.  พิจารณาเห็นกามและกามสัญญาว่าเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นอันตราย มีจิตเป็นมหัคคตะ อธิษฐานใจครอบโลกอยู่ อกุศลลามกก็จะไม่มี เพราะละอกุศลได้ จิตที่เล็กจักกลายเป็นจิตหาประมาณมิได้ 

๒.  พิจารณาเห็นกามและกามสัญญา อันเกิดเนื่องด้วยรูป คือ มหาภูต ๔ และรูปอาศัยมหาภูตทั้ง ๔  เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ 

๓.  พิจารณาเห็นกามและกามสัญญา รูปและรูปสัญญา ว่าเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ควรยินดี ไม่ควรบ่นถึง ไม่ควรติดใจ

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นๆ อยู่ จิตย่อมมีความผ่องใส เข้าถึงอาเนญชสมาบัติ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้  เมื่อตายไป พึงเป็นวิญญาณเข้าถึงสภาพหาความหวั่นไหวมิได้ เป็นฐานะที่มีได้ นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอาเนญชสมาบัติเป็นที่สบาย

ปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบาย

๑.  พิจารณาเห็นกามและกามสัญญา รูปและรูปสัญญา อาเนญชสัญญา ดับไม่มีเหลือในที่ใด ที่นั้นคืออากิญจัญญายตนะ 

๒.  พิจารณาเห็นดังนี้ว่า สิ่งนี้ว่างเปล่าจากตน หรือจากความเป็นของตน

๓.  พิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราไม่มีในที่ไหนๆ สิ่งน้อยหนึ่งของใครๆ ไม่มีในเรา และสิ่งน้อยหนึ่งของเรา ก็ไม่มีในที่ไหนๆ ในใครๆ ไม่มีสิ่งน้อยหนึ่งเลย 

เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานั้นๆ อยู่ จิตย่อมมีความผ่องใส เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณจะเข้าถึงภพอากิญจัญญายตนะ เป็นฐานะที่มีได้ นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบาย

ปฏิปทามีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบาย

๑.  พิจารณาเห็นกามและกามสัญญา รูปและรูปสัญญา อาเนญชสัญญา และ อากิญจัญญายตนสัญญา ดับไม่มีเหลือในที่ใด ที่นั่นคือเนวสัญญานาสัญญายตนะ เมือปฏิบัติได้อย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยปฏิปทานี้อยู่ จิตย่อมผ่องใส เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ หรือจะน้อมใจไปในปัญญาได้ในปัจจุบัน เมื่อตายไป ข้อที่วิญญาณจะเข้าถึงภพเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นฐานะที่มีได้ นี้เราเรียกว่า ปฏิปทามีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นที่สบาย

เมื่อภิกษุปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมได้อุเบกขา ด้วยคิดว่า สิ่งที่ไม่มีก็ไม่พึงมีแก่เรา และจักไม่มีแก่เรา เราจะละสิ่งที่กำลังมีอยู่ และมีมาแล้วนั้น  

ภิกษุที่ยินดี บ่นถึง และติดใจในอุเบกขานั้น ย่อมไม่ปรินิพพาน เพราะภิกษุผู้มีความยึดมั่นอยู่ ย่อมปรินิพพานไม่ได้ เข้าถือเอาเนวสัญญานาสัญญายตนภพ อันเป็นแดนประเสริฐสุดของเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ภิกษุที่ไม่ยินดี ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจในอุเบกขา วิญญาณย่อมไม่อาศัยอุเบกขานั้น ภิกษุผู้ไม่มีความยึดมั่น ย่อมปรินิพพานได้ 

วิโมกข์ของพระอริยะ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นซึ่งกามและกามสัญญา รูปและรูปสัญญา อาเนญชสัญญา อากิญจัญญายตนสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา สักกายะ อมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น 
 

 


อ่าน อาเนญชสัปปายสูตร

อ้างอิง
อาเนญชสัปปายสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๐-๙๒ หน้าที่ ๖๑-๖๖
ชุดที่
ลำดับที่
17

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม