Main navigation

กึสุกสูตร

ว่าด้วย
อุปมาด้วยต้นทองกวาว
เหตุการณ์
ภิกษุรูปหนึ่งถามภิกษุรูปอื่น ๆ ว่า ทัศนอันหมดจดเกิดขึ้นด้วยเหตุเพียงเท่าใด ภิกษุนั้นไม่ยินดีในคำตอบ จึงไปถามพระพุทธเจ้า

ภิกษุรูปหนึ่งถามขึ้นว่า ทัศนของภิกษุหมดจดได้ด้วยเหตุเพียงเท่าใด

ภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งผัสสายตนะ ๖ ตามความเป็นจริง

ภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง

ภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ ภิกษุรู้ชัดเหตุเกิด และความดับแห่งมหาภูตรูป ๔ ตามความเป็นจริง

ภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า ทัศนะของภิกษุเป็นอันหมดจดดีด้วยเหตุที่ ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อภิกษุนั้นเล่าคำตอบที่ตนได้รับฟังมาให้พระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวอุปมาว่าด้วยต้นทองกวาวว่า บุคคลย่อมอธิบายต้นทองกวาวตามลักษณะที่ตนเห็น ทัศนะของสัตบุรุษเหล่านั้นผู้น้อมไปแล้ว เป็นอันหมดจดดีด้วยประการใด ๆ สัตบุรุษทั้งหลายพยากรณ์แล้วด้วยประการนั้น

และทรงอุปมาต่อไปว่า

มีเมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้นเป็นคนฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไปในเมืองนั้น ราชทูตคู่หนึ่งมีราชการด่วน ถามนายประตูนั้นว่า เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นายประตูนั้นตอบว่า เจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทางสามแพร่งกลางเมือง เมื่อราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามความเป็นจริงแก่เจ้าเมืองแล้ว ก็ดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว

เมือง เป็นชื่อของกาย เป็นที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาและบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบ ต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา     

ประตู ๖ ประตู เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖

นายประตู เป็นชื่อของสติ     

ราชทูตคู่หนึ่ง เป็นชื่อของสมถะและวิปัสนา

เจ้าเมือง เป็นชื่อของวิญญาณ

ทางสามแพร่งกลางเมือง เป็นชื่อของมหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

ถ้อยคำตามความเป็นจริง เป็นชื่อของนิพพาน

ทางตามที่มาแล้ว เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ 

 

 

อ่าน กึสุกสูตร

 

อ้างอิง
กึสุกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๓๙-๓๔๒ หน้า ๒๒๔ - ๒๒๗
ชุดที่
ลำดับที่
7

สถานที่

ไม่ระบุ

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม